การย้ายตัวอ่อนรอบสดกับรอบแช่แข็ง

การย้ายตัวอ่อน เป็นขั้นตอนสำคัญมากขั้นตอนหนึ่ง ตัวอ่อนสามารถย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกทั้งในรอบกระตุ้นไข่ หรือที่เรียกว่ารอบสด และสามารถย้ายกลับหลังจากแช่แข็งได้

รอบสดและรอบแช่แข็ง แตกต่างกันอย่างไร

ในรอบกระตุ้นไข่และเก็บไข่ ผู้หญิงจะได้รับฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการทำงานของรังไข่ ทำให้ฟองไข่โตขึ้นหลายใบ ระดับฮอร์โมนจากรังไข่ก็สูงขึ้นมากด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับในรอบธรรมชาติซึ่งมีฟองไข่โตขึ้น 1 ใบ และระดับฮอร์โมนก็ไม่สูงมากนัก

เมื่อฟองไข่โตหลายใบ ระดับฮอร์โมนในร่างกายสูง จะมีผลทำให้เซลล์ในเยื่อบุโพรงมดลูก และโพรงมดลูกบวมขึ้น และมีการพัฒนาภายในเซลล์ที่แตกต่างจากรอบธรรมชาติ ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้น้อยลง และเมื่อตั้งครรภ์แล้วมีโอกาสท้องนอกมดลูก และแท้งสูงขึ้นได้ ในผู้หญิงที่มีฟองไข่โตขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 20 ใบ และมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงประมาณ 3,500 pg/ml ขึ้นไป เมื่อตั้งครรภ์จากการย้ายตัวอ่อนรอบสด จะมีโอกาสเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป ซึ่งเป็นอันตรายได้

ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้ย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง โดยหลังจากเก็บไข่แล้ว จะรอจนประจำเดือนมาตามปกติ 1-2 รอบประจำเดือน และทำการแช่แข็งตัวอ่อนในระยะฝังตัวเอาไว้ก่อน แล้วทำการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมเพื่อละลายตัวอ่อนและทำการย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก จะช่วยเพิ่มอัตราการฝังตัวและอัตราการตั้งครรภ์ รวมถึงลดอัตราการแท้ง และภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปได้

การแช่แข็งตัวอ่อน จะมีผลเสียกับตัวอ่อนหรือไม่

การแช่แข็งตัวอ่อนในปัจจุบันใช้วิธีแช่แข็งแบบเนื้อแก้ว (Vitrification) ซึ่งตัวอ่อนมีอัตราการรอดชีวิตหลังละลายสูง และมีผลกระทบต่อตัวอ่อนน้อย จากข้อมูลทางการแพทย์ ทารกที่เกิดจากการย้ายตัวอ่อนแช่แข็งไม่พบความผิดปกติสูงกว่าทารกที่เกิดจากการย้ายตัวอ่อนในรอบสด

การย้ายตัวอ่อนในรอบสด เหมาะสมกับใครบ้าง การย้ายตัวอ่อนรอบสด ยังมีอัตราความสำเร็จ ค่าใช้จ่ายไม่สูง และมีประโยชน์ในบางกรณี เช่น ในผู้หญิงที่จำนวนไข่ไม่มากเกินไป ระดับฮอร์โมนไม่สูงมากนัก ลักษณะเยื่อบุโพรงมดลูกเหมาะสม และไม่ได้ทำการตรวจคัดกรองโครโมโซมในตัวอ่อน สามารถพิจารณาย้ายตัวอ่อนรอบสดได้ โดยจะมีอัตราความสำเร็จค่อนข้างสูงและปลอดภัย มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนไม่มากนัก


Scroll to Top