การส่องกล้องปากมดลูก คอลโปสโคปี (Colposcopy)

 

การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy)

     Colposcopy (คอลโปสโคปี) เป็นการตรวจเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ของปากมดลูก ช่องคลอด และอวัยวะเพศภายนอกของผู้หญิง วิธีนี้ถือเป็นการตรวจภายในรูปแบบหนึ่ง โดยใช้กล้องสำหรับส่องเพื่อหาความผิดปกติหรือร่องรอยของโรคบริเวณปากมดลูก เช่น โรคมะเร็ง โรคเอชพีวี หรือหูดหงอนไก่  เป็นต้น      

     การตรวจด้วยกล้องคอลโปสโคป ไม่ได้ทำในกรณีที่ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกพบเซลล์ผิดปกติทุกราย แต่จะทำในกรณีที่ผิดปกติหรือมีอาการที่น่าสงสัยเป็นมะเร็งปากมดลูก ดังนี้

 

  1. กรณีที่มีผลการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ ดังนี้
    • Atypical squamous cells of undetermined significance (ASC-US) ร่วมกับผู้ป่วยพบ High risk HPV(โดยเฉพาะอายุมากกว่า 30ปี)
    • Low-grade squamous intraepithelial lesions (LSIL) ร่วมกับ High risk HPV (โดยเฉพาะอายุมากกว่า 30ปี)
    • Atypical squamous cells, cannot exclude HSIL (ASC-H)
    • Atypical glandular cells (AGC)
    • High-grade squamous intraepithelial lesion (HSIL)
    • Invasive cancer ที่ไม่เห็นรอยโรค
  2. สงสัยลักษณะของมะเร็งจากการตรวจด้วยตาเปล่า เช่น มีลักษณะผิดปกติ มีแผล หรือมีก้อนเนื้อ
  3. เลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือนที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ หรือเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ และตกขาวเนิ่นนานที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้
  4. รอยโรคน่าสงสัยบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอดจากการตรวจด้วยตาเปล่า
  5. กรณีอื่น ๆ ที่อาจพิจารณาตรวจด้วยคอลโปสโคป
  6. Persistent HPV infection ซึ่งมักจะตรวจพบ HPV DNA ให้ผลบวก 2 ครั้ง ห่างกัน 12 เดือนถึงแม้การตรวจทาง cytology จะปกติ
  7. HPV positive type 16,18
  8. ผลการตรวจด้วยน้ำส้มสายชู (visual inspection with acetic acid : VIA) พบฝ้าขาวหรือผิดปกติ
  9. การตรวจติดตามผลหลังการรักษารอยโรค CIN ด้วยการรักษาเฉพาะที่ เช่น การจี้ด้วยความเย็น และ การตัดด้วยห่วงไฟฟ้า
  10. รอยโรค CIN 1 ที่คงอยู่นานกว่า 12 เดือน
  11. คู่นอนเป็นเนื้องอกหรือหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศส่วนล่าง
  12. ผล Pap smear พบว่ามีการอักเสบหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ
  13. เคยได้รับ diethylstilbestrol (DES) ขณะอยู่ในครรภ์

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ Colposcopy

     แพทย์อาจแนะนำให้เตรียมตัวด้วยการงดมีเพศสัมพันธ์ งดการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอด งดการสวนล้างช่องคลอด และงดการใช้ยาทา ยาสอด หรือเจลหล่อลื่นบริเวณอวัยวะเพศ 1-2 วันก่อนการตรวจ และหากมีประจำเดือน ควรโทรแจ้งโรงพยาบาลเพื่อเลื่อนการตรวจออกไปและควรเตรียมผ้าอนามัยสำรอง เพราะการตรวจอาจทำให้มีเลือดออกเล็กน้อยหรือทำให้มีตกขาวได้ และภายหลังการตรวจ

วิธีการทำ Colposcopy

  1. เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ จากนั้นจะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนลงบนเตียงสำหรับการตรวจภายในโดยเฉพาะหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าการขึ้นขาหยั่ง
  2. ขั้นตอนตรวจจะเริ่มจากแพทย์จะใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) สอดเข้าภายในช่องคลอดเพื่อให้ช่องคลอดเปิดค้างไว้และสะดวกต่อการตรวจ ต่อไปแพทย์จะทำความสะอาดและใช้สารที่มีลักษณะเป็นของเหลวชนิดพิเศษทาลงบริเวณปากมดลูก โดยสารเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกแสบเล็กน้อย หลังจากนั้นจะใช้กล้องคอลโปสโคปส่องหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก
  3. หากพบว่ามีความผิดปกติแพทย์อาจทำการถ่ายภาพและตัดเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากบริเวณที่มีความผิดปกติรุนแรงที่สุด (Targeting Biopsies) เพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยา
  4. ผลการตรวจชิ้นเนื้ออาจใช้เวลาในการวิเคราะห์ 4-8 สัปดาห์ หากผลการตรวจออกมาว่าพบเซลล์ที่ผิดปกติหรือเป็นโรค แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการตรวจจะออกมาว่าเซลล์นั้นผิดปกติ แต่ไม่ได้หมายถึงการเป็นโรคมะเร็งในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนอายุน้อยที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่หากทิ้งไว้และไม่เข้ารับการรักษา เซลล์เหล่านี้อาจกลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด ดังนั้น เมื่อได้รับการแจ้งผลแล้วพบว่าตนเองมีเซลล์ชนิดดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด

การปฏิบัติตัวหลังเข้ารับการตรวจ Colposcopy

     ผู้ที่เข้ารับการตรวจด้วยการส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูกส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นและสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ แต่การตรวจอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการปวดบริเวณปากมดลูก ตกขาวสีเข้มขึ้น เกิดบาดแผลและมีเลือดออกบริเวณอวัยวะเพศเล็กน้อย ซึ่งแผลภายในช่องคลอดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ดังนั้น ผู้ที่เข้ารับการตรวจจึงควรดูแลรักษาความสะอาดของแผลและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแผล งดการมีเพศสัมพันธ์ งดการใช้ยาทา ยาสอด เจลหล่อลื่น และการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างน้อย 2 วันไปจนถึง 1-2 สัปดาห์หลังการตรวจ เพราะอาจสร้างความเจ็บปวดและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนอาการปวดอาจบรรเทาได้ด้วยยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์หรือยาแก้ปวด นอกจากนี้ หากพบสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างมีไข้ มีอาการหนาวสั่น ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ตกขาวสีเหลืองและมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดไหลมากกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที


Scroll to Top