การเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยทอง

วัยทอง หรือ วัยหมดระดู

     คือช่วงเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจซึ่งเกิดจากรังไข่ที่หยุดทำงานตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ย หญิงไทยจะหมดระดูประมาณอายุ 49.5 ปี และส่วนใหญ่จะหมดระดูในช่วง 45-55 ปี เมื่อรังไข่หยุดทำงานจะหยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจนและทำให้ประจำเดือนขาด และตามมาด้วยอาการต่างๆมากมาย ในสตรีที่ได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างก็จะเกิดอาการในลักษณะเดียวกันเนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน

     การเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยทองเริ่มขึ้น 1-3 ปีก่อนประจำเดือนจะขาด โดยรอบประจำเดือนจะแปรปรวนมากขึ้น มาไม่ตรง มาห่าง หรือมาไม่สม่ำเสมอทุกเดือนได้ เมื่อประจำเดือนขาดครบ 1 ปีจึงจะเรียกว่าหมดประจำเดือนจริงๆ อาการต่างๆของวัยทองสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่รอบประจำเดือนเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ หรืออาจเริ่มหลังจากประจำเดือนขาดไปแล้วก็ได้ อาการเหล่านี้รบกวนชีวิตประจำวันได้อย่างมาก ในแต่ละคนจะมีประสบการณ์ช่วงวัยหมดระดูแตกต่าง อาการอาจไม่เหมือนกัน รบกวนชีวิตไม่เท่ากัน

อาการวัยทอง

  1. ร้อนวูบวาบ – เป็นอาการที่เด่นที่สุดของช่วงวัยทอง อาการร้อนวูบวาบมักรัอนที่บริเวณหน้า หน้าอก หลังตอนบน นานเป็นวินาทีถึง 2-3 นาที สลับกับเหงื่อออกมากและรู้สึกว่าหนาว เป็นอาการร้อนๆหนาวๆสลับกัน มักเป็นมากในช่วงกลางคืนหรือเวลาที่มีความเครียด สามารถเกิดขึ้นในทุกช่วงเวลาของวัน ในบางคนอาการเหล่านี้รุนแรงมากจนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ เครียด หรือเกิดปัญหากับคนรอบข้างขึ้นได้
  2. นอนไม่หลับ – ในช่วงวัยทองอาจมีอาการนอนไม่หลับได้ อาจใช้เวลาในการหลับนานขึ้น หลับยากขึ้น หรือเมื่อหลับไปแล้วตื่นขึ้นมากลางคืน ไม่สามารถกลับไปนอนต่อได้ ในบางคนเกิดจากอาการร้อนวูบวาบรบกวนการนอน และในบางคนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามอายุ
  3. อารมณ์แปรปรวน คิดช้าลง – อาจมีอารมณ์ซึมเศร้าหรือหงุดหงิดกว่าก่อน บางคนจะอ่อนไหวง่ายต่อภาวะเครียด อาจวิตกกังวลกับสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวันได้มากกว่าปกติ ทำให้รับมือกับความเครียดได้ไม่เหมือนเดิม บางคนจะรู้สึกว่าคิดช้าลง ทำงานได้น้อยลง หรือมีกำลังใจในการทำงานลดง
  4. ช่องคลอดแห้ง – ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่หล่อเลี้ยงช่องคลอดจะลดลงในช่วงวัยทอง ทำให้ผนังช่องคลอดแห้ง แสบ คัน บางคนอาจรู้สึกว่าเจ็บเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกตอนที่มีเพศสัมพันธ์ บางคนอาจรู้สึกแสบร้อนเวลาปัสสาวะได้ หรือติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะง่ายกว่าเมื่อก่อน
  5. รูปลักษณ์ร่างกายเปลี่ยนไป  – ร่างกายในช่วงวัยทองจะสะสมไขมันรอบเอวมากขึ้น เผาผลาญพลังงานน้อยลง และมีมวลกล้ามเนื้อที่ลดลง ทำให้ปริมาณไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น ผิวหนังจะบางลงและหย่อนคล้อยมากขึ้นกว่าเดิม
  6. กระดูกบางลง – ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญในการคงมวลกระดูก เมื่อฮอร์โมนลดปริมาณลงร่างกายจะสลายกระดูกเร็วขึ้น ทำให้เกิดภาวะกระดูกบาง กระดูกหักได้ง่าย
Scroll to Top