ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี

ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี

ตรวจสุขภาพประจำปี คือ การวางแผนการดูแลสุขภาพ

สังคมในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาดูแลเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น เห็นได้จากการหันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกายกันมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการมีสุขภาพที่ดีขึ้นจึงหันมาดูแลตัวเองกันมากขึ้น การตรวจสุขภาพประจำปี คือ การตรวจค้นหาโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ซ่อนตัวอยู่ในร่างกายเรา โดยที่ร่างกายยังไม่แสดงอาการผิดปกติอะไร การตรวจพบตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้เราสามารถรักษาดูแลโรคได้ดี และมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจพบในระยะที่มีอาการหรือโรคได้ลุกลามไปมากแล้ว

ในยุคปัจจุบันมีสิ่งกระตุ้นที่มีผลต่อความผิดปกติกับร่างกายของเราอยู่เป็นจำนวนมาก โรคบางชนิดไม่แสดงอาการจนกระทั่งสายเกินแก้อาจจะทำให้สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอช่วยให้อุ่นใจและคลายกังวลจากปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้การตรวจสุขภาพเป็นการตรวจสำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรค หรือโรคและภาวะต่างๆ ที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความรุนแรงและลดภาวะแทรกซ้อนของโรคนั้นๆ พร้อมทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

ควรตรวจสุขภาพอะไรบ้าง

รายการตรวจที่แนะนำได้แก่ ความดันโลหิต ชีพจร ตรวจวัดดัชนีมวลกาย ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ปัสสาวะ ภาพฉายรังสีทรวงอก เป็นต้น สำหรับคุณผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วแนะนำควรเพิ่มการตรวจมะเร็งปากมดลูกเข้าไปด้วย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน มีประวัติไขมันในเลือดสูงหรือเบาหวานในญาติสายตรง ควรตรวจคัดกรองระดับไขมันในเลือด และระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มเติม

เมื่ออายุ 35 ปี ควรตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งทุกท่านควรตรวจหาระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือด ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นอกจากนี้คุณผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมทุกราย

เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงและชายควรตรวจหาภาวะความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน และมะเร็งลำไส้ ซึ่งจะพบว่าผู้ป่วยด้วยกลุ่มโรคนี้ในอัตราค่อนข้างสูงในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป

สำหรับการตรวจอื่น ๆ เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งต่อมลูกหมาก, โรคไต, ไทรอยด์, การทำงานของตับรวมถึงการตรวจพิเศษต่าง ๆ เช่น การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หรือ ก่อนมีบุตร เป็นต้น ควรตรวจตามความเหมาะสม หรือพิจารณาจากพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยง อาจปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจหากมีความสงสัยว่าตนมีความเสี่ยงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนั้น ๆ หรือไม่ เพื่อแพทย์จะพิจารณาและแนะนำรายการตรวจรวมถึงวิธีการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสมในแต่ละราย

เตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี และข้อห้ามที่ควรรู้!

  1. ไม่ควรอดนอนคืนก่อนการตรวจสุขภาพ เพราะจะทำให้ค่าความดันโลหิตสูงกว่าที่เป็นจริง  และอาจจะทำให้ผลการตรวจการเต้นของหัวใจผิดปกติไปด้วย ดังนั้นควรจึงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ
  2. งดอาหารเครื่องดื่มและแอลกอฮอล์อย่างน้อย 8 ชั่วโมงขึ้นไปก่อนตรวจ และไม่ควรทานอาหารหลังเวลา 00 น. ในตอนเช้าของวันที่ตรวจสุขภาพจิบน้ำเปล่าได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าลืมงดอาหารหรือเครื่องดื่มควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนตรวจสุขภาพ
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวานขนมหวานจัด เพราะจะส่งผลให้มีน้ำตาลปนในปัสสาวะ
  4. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดควรงดน้ำและอาหารก่อนการเจาะเลือด อย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ
  5. การตรวจระดับไขมัน(คอเลสเตอรอล,ไตรกลีเซอไรด์, HDL, LDL) ควรงดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนตรวจ และควรงดอาหารที่มีไขมันสูงอย่างน้อย 3 วันก่อนมาตรวจสุขภาพ
  6. การตรวจเอกซเรย์ปอด (X-Ray)ควรถอดเครื่องประดับต่างๆ ที่เป็นโลหะ เช่น นาฬิกา แหวน สร้อย เข็มขัด สำหรับผู้หญิงควรใส่ชุดชั้นในที่ไม่มีโครงเหล็ก หรือสามารถใส่ชุดชั้นในสำหรับออกกำลังกายได้ (สำหรับสตรีมีครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ควรแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก่อนรับการตรวจ เนื่องจากการเอกซเรย์อาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์)
  7. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจควรถอดเครื่องประดับต่างๆ ที่เป็นโลหะ และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนการมาตรวจ
  8. การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมควรหลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน เพราะเต้านมจะมีความคัดตึง และควรตรวจหลังจากมีประจำเดือนไปแล้ว
  9. การเจาะเลือดควรกดบริเวณแขนข้างที่เจาะเลือดไว้ประมาณ 5-10 นาที หากมีรอยช้ำเขียวบริเวณที่เจาะเลือดแสดงว่าเส้นเลือดแตก รอยช้ำดังกล่าวจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์
  10. การตรวจสายตาหากสวมแว่นสายตาควรนำแว่นที่ใช้อยู่มาตรวจเช็คด้วยและควรงดใส่คอนแทคเลนส์เพื่อการตรวจที่แม่นยำยิ่งขึ้น
  11. ตรวจการได้ยินควรมีการพักหูอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ และควรตรวจก่อนเวลาเข้าทำงานเพื่อผลการตรวจที่แม่นยำ
  12. หากมีประจำเดือนให้งดตรวจปัสสาวะเพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะและมีผลกระทบต่อผลการตรวจ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการปัสสาวะในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน
  13. การแต่งกายควรสวมใส่เสื้อที่สามารถพับแขนขึ้นได้ง่าย ไม่รัดแน่น เพื่อความสะดวกในการเจาะเลือด และควรใส่ชุดที่ค่อนข้างหลวมสบาย สำหรับผู้หญิงหากตรวจภายในควรสวมใส่กระโปรงเพื่อความสะดวก
  14. ควรตรวจสุขภาพในช่วงเช้าเพราะหลังจากการเจาะเลือดแล้ว สามารถรับประทานน้ำและอาหารได้ทันทีร่างกายจะได้ไม่อิดโรยเกินไป
  15. หากมีโรคประจำตัวควรนำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์มาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ติดตามผลสุขภาพของตนเองเป็นประจำ

การตรวจสุขภาพประจำปีนั้นช่วยให้คุณได้ติดตามผลสุขภาพของตนเองอยู่เป็นประจำ เพราะทุก ๆ การตรวจสุขภาพนั้นจะมีการตรวจเลือด เอกซเรย์ รวมถึง ตรวจวัดค่าความดันต่าง ๆ ทำให้ได้ผลสุขภาพที่สามารถทำให้เรารับรู้ได้ว่าปัจจุบันนี้สุขภาพของเราดีขึ้นหรือแย่ลงจากปีที่แล้วและปีก่อน ๆ หน้าอย่างไร ทำให้เราสามารถวางแผนการรักษาและดูแลตัวเองได้ดีมากยิ่งขึ้น

การจะมีสุขภาพที่ดีได้นั้น ต้องหมั่นดูแลสุขภาพตัวเองเป็นประจำทุกวัน โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณพอดีครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนให้เพียงพอ และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเป็นการประเมินสุขภาพตัวเองว่า ในรอบปีที่ผ่านมามีสิ่งผิดปกติใดเกิดขึ้นกับร่างกายบ้างหรือต้องแก้ไขอย่างไร         

หากตรวจพบโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก การรักษาก็จะทำได้ง่าย มีโอกาสพบภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเริ่มรักษาในระยะลุกลาม หากถามว่าคุ้มไหมกับการสละเวลามาตรวจสุขภาพ คงต้องตอบว่ามีปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวว่า “มีเงินทองมากมายไม่สามารถหาซื้อสุขภาพที่ดีได้ แต่สุขภาพที่ดีสามารถหาเงินได้มากมาย” การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขอย่างแน่นอน

Scroll to Top