จอตาลอก (Retinal detachment)

จอตาลอก (Retinal detachment)


เป็นภาวะฉุกเฉินทางตา เป็นอาการที่รุนแรงและส่งผลต่อการมองเห็น โดยเกิดขึ้นเมื่อจอตาแยกออกจากเนื้อเยื่อที่ยึดอยู่ภายใต้จอตา เมื่อเนื้อเยื่อเหล่านี้แยกออกจากจอตา จะทำให้จอตาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และหากปล่อยไว้โดยไม่มีการรักษาก็จะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด

แบ่งตามสาเหตุ  ได้ 3 ชนิด คือ
  1. จอตาลอกที่มีรูหรือรอยฉีกขาดที่จอตา เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด อาจเกิดจากภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม อุบัติเหตุดวงตาได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือเกิดจากจอตาบางจึงเกิดรูฉีกขาดของจอตา
  2. จอตาลอกที่เกิดจากการดึงรั้งโดยพังผืด พบในผู้เป็นเบาหวานขึ้นตาหรือในผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงทำให้ตาทะลุหรือลูกตาแตก มีการอักเสบของวุ้นลูกตาหรือจอตาแล้วเกิดพังผืด
  3. จอตาลอกที่เกิดจากสารน้ำรั่วซึม หรือมีของเหลวสะสมอยู่ใต้ชั้นของจอตา พบในผู้ป่วยโรคคอรอยด์อักเสบ ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ และผู้ป่วยโรคไตวาย เป็นต้น
อาการของภาวะจอตาหลุดลอก
  1. มองเห็นแสงไฟ คล้ายฟ้าแลบ ในตาข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง จะเห็นแสงไฟได้ชัดขึ้นในที่มืด
  2. มองเห็นจุดดำหรือฝุ่นเป็นเงา ลอยไปมานำมาก่อน
  3. มองเห็นภาพด้านข้างลดลง
  4. คล้ายมีม่านบดบังการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมดของภาพ
สาเหตุของภาวะจอประสาทตาหลุดลอก
  • การหดตัวและดึงรั้งของน้ำวุ้นที่อยู่กลางลูกตา จากภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม
  • การกระทบกระเทือนที่ตา
  • ภาวะการอักเสบในลูกตา
  • ภาวะเบาหวานขึ้นจอตาที่มีการงอกผิดปกติของเส้นเลือด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะจอประสาทตาหลุดลอก
  • มีสายตาที่สั้นมาก
  • เคยมีจอตาลอกหลุดข้างใดข้างหนึ่งมาก่อน
  • มีประวัติการหลุดลอกของจอตาในครอบครัว
  • ภาวะเสื่อมของจอตาโดยเฉพาะจอตาเสื่อมชนิดแลตทิช
  • เคยได้รับการผ่าตัดภายในลูกตา เช่นการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์เทียม หรือเคยได้รับการเลเซอร์ตารักษาภาวะเบาหวานขึ้นจอตามาก่อน
  • เคยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงที่ตา
  • เคยอักเสบติดเชื้อบริเวณตามาก่อน
การรักษาภาวะจอตาหลุดลอก
  1. การยิงเลเซอร์บริเวณรอยฉีกในขาดของจอตา (Photocoagulation) ก่อให้เกิดความร้อนล้อมรอบบริเวณที่มีการฉีกขาด ทำให้เกิดแผลเป็น เชื่อมจอตาไว้ให้ติดกับผนังตาด้านหลัง จะทำในกรณีที่มีการหลุดลอกของจอตาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
  2. การฉีดแก๊สเข้าในลูกตา พร้อมกับจี้เลเซอร์เย็น (Cryopexy) บริเวณที่มีการฉีกขาดของจอตาเพื่อช่วยให้จอตาติดกับผนังตาด้านหลัง
  3. การผ่าตัดใส่ยางรัดลูกตา (Scleral buckling) เพื่อหนุนให้ผนังลูกตามาปิดพอดีกับรอยฉีกขาด
  4. การผ่าตัดวุ้นตาและใส่แก๊สในลูกตาหรือซิลิโคน เพื่อให้ทำการปิดรอยฉีกขาดและทำให้จอตาแนบสนิท
Scroll to Top