ดูแลไตลูกน้อยอย่างไร…เพื่อป้องกันโรคไตผู้ใหญ่ในอนาคต

ดูแลไตลูกน้อยอย่างไร…เพื่อป้องกันโรคไตผู้ใหญ่ในอนาคต

ไต เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ในการผลิตปัสสาวะ ขจัดของเสีย รักษาสมดุลของสารน้ำ เกลือแร่ และกรดด่างในร่างกายเพื่อให้เซลล์ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ หากเราดูแลไตให้ดีตั้งแต่เด็ก ก็จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตในอนาคต ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคไตในผู้ใหญ่รวมถึงลดโอกาสการฟอกไตในวัยผู้ใหญ่ด้วย

ดูแลไตได้ตั้งแต่ลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์

  • ขณะฝากครรภ์ สูติแพทย์มักอัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจสุขภาพของลูกน้อย หากตรวจพบว่าทารกในครรภ์มีโครงสร้างทางเดินปัสสาวะที่ผิดปกติ ควรได้รับการติดตามหรือตรวจเพิ่มเติมกับกุมารแพทย์โรคไตต่อไป

สังเกตความผิดปกติของไตตั้งแต่วันแรกหลังคลอด

  • ทารกควรปัสสาวะอย่างน้อย 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด หากไม่ปัสสาวะ กุมารแพทย์จะพิจารณาตรวจเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาหาความผิดปกติที่อาจพบได้ เช่น ภาวะอุดกั้นจากลิ้นกั้นท่อปัสสาวะ

ป้องกันและดูแลไตในวัยทารก

  • เนื่องจากทารกมีท่อปัสสาวะที่สั้นมาก เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การดูแลความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศจึงมีความสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกทุกครั้งที่ลูกปัสสาวะหรืออุจจาระ เช็ดทำความสะอาดอย่างถูกวิธี โดยเช็ดจากอวัยวะเพศไปที่ทวารหนัก ไม่เช็ดย้อนไปมา
  • หากทารกมีไข้ ร้องกวนงอแง อาเจียน หรือปัสสาวะมีกลิ่นฉุน ควรได้รับการตรวจโดยกุมารแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการแสดงของภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อีกทั้งการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เนื้อไตเกิดแผลเป็นซึ่งทำให้การทำงานของไตเสื่อมได้

ป้องกันและดูแลไตในวัยเตาะแตะ

  • ฝึกการขับถ่าย (toilet training) โดยฝึกให้ลูกน้อยนั่งกระโถนหรือชักโครก ไม่ใส่ผ้าอ้อมในเวลากลางวัน ฝึกการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา เพื่อป้องกันภาวะท้องผูกซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
  • ดื่มน้ำปริมาณพอเหมาะตามวัย ไม่กลั้นปัสสาวะ
  • เด็กควรได้รับการตรวจอวัยวะเพศโดยกุมารแพทย์ เพื่อตรวจว่ามีภาวะแคมติดกันในเพศหญิง หรือหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิดในเด็กชายหรือไม่ หากมีควรพิจารณารักษา เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
  • ฝึกให้ลูกน้อยรับประทานอาหารรสธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักจนเกินไป
  • เด็กที่มีความเสี่ยงต่อไปนี้ ได้แก่ คลอดก่อนกำหนด มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคปอด ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังภาวะความดันโลหิตสูง

ป้องกันและดูแลไตเด็กในวัยเรียน

  • เด็กควรได้รับการตรวจปัสสาวะในวัยเรียนอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คว่ามีภาวะเม็ดเลือดแดงรั่วในปัสสาวะ หรือโปรตีนรั่วในปัสสาวะหรือไม่ เพื่อเฝ้าระวังโรคที่มีความผิดปกติของหน่วยกรองไตที่มักแสดงอาการชัดเจนในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งในเด็กมักยังไม่แสดงอาการแต่อาจตรวจพบความผิดปกติได้ในระดับจุลทรรศน์แล้ว หากได้รับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้ชะลอความเสื่อมของไตในอนาคตได้
  • ดูแลการเจริญเติบโตของเด็ก ไม่ให้อ้วนจนเกินไป เนื่องจากความอ้วนสัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตสูง เด็กที่มีความดันโลหิตสูงมักมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของไตในระยาว

ป้องกันและดูแลไตในวัยรุ่น

  • ควรได้รับการคัดกรองความดันโลหิตอย่างน้อย 1ครั้ง
  • ดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ให้อ้วนจนเกินไป
  • เอาใจใส่ดูแลบุตรหลาน เนื่องจากวัยนี้อาจเริ่มมีการใช้ยาลดความอ้วน ยาเสพติด ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายรวมถึงต่อไตด้วย

 

Scroll to Top