ถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian cyst)

ถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian cyst)

     ถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian cyst) เป็นโรคของระบบสืบพันธุ์สตรีที่พบบ่อยเป็นลำดับต้น ๆ ดังนั้นผู้หญิงทุกท่านควรให้ความสำคัญ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันเวลา

     ซึ่งถุงน้ำรังไข่ บ่อยครั้งจะไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจาการสร้างฟอร์ริเคิลตามรอบเดือน และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่หากไม่สลายไปเองอาจเป็นถุงน้ำรังไข่ที่มีพยาธิสภาพและหากถุงน้ำมีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดท้องน้อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีเลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น

อาการของถุงน้ำในรังไข่

     ตามปกติถุงน้ำในรังไข่ไม่ได้ทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย บางรายอาจตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจพบโดยบังเอิญ แต่หากถุงน้ำมีขนาดใหญ่ หรือ มีแทรกซ้อนเช่น แตก/รั่ว/บิดขั้ว/ติดเชื้อ จะมีอาการรุนแรงเกิดขึ้นได้

ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้ด้วย

  • ปวดแปลบหรือปวดตื้อ ๆ บริเวณท้องส่วนล่าง
  • ปวดท้องน้อยก่อนหรือในระหว่างที่มีรอบเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ แน่นท้อง
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ปวดหลังส่วนล่างและบริเวณต้นขา บางครั้งร้าวไปก้นกบ
  • เจ็บเต้านม
  • อาการไข้ ร่วมกับปวดท้อง

สาเหตุของถุงน้ำในรังไข่

     ถุงน้ำในรังไข่มักเกิดจากการตกไข่ในกระบวนการมีรอบเดือน และเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตกไข่ด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ถุงน้ำที่รังไข่ (Follicular Cyst) ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการเจริญเติบโตของฟองไข่ตามธรรมชาติ ซึ่งมีทุกรอบเดือน ลุงน้ำจะแตกออกเพื่อตกไข่ในเวลาต่อมา แต่หากไม่เกิดการตกไข่ ถุงน้ำนี้จะสามารถยุบตัวไปเอง
  2. ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (Corpus Luteum Cyst) โดยปกติแล้ว ถุงน้ำฟอร์ริเคิลข้างต้นจะหดตัวหลังจากที่ปล่อยไข่ออกไปแล้ว แต่หากถุงน้ำไม่แตกและไม่ละลายหายไปจะเกิดการสะสมของเหลวภายในถุงน้ำจนเกิดถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม ซึ่งถุงน้ำชนิดนี้ปกติจะหายไปได้เองและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

นอกจากนี้ ถุงน้ำในรังไข่อาจเกิดขึ้นได้จากมีพยาธิสภาพไม่หายเอง อาจเป็นถุงน้ำรังไข่ ดังนี้

  • ถุงน้ำชนิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriotic cyst)
  • ถุงน้ำที่เกิดจากการสะสมของเลือดที่ออกจากโพรงมดลูกที่มาเจริญผิดที่ที่รังไข่ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องน้อยสัมพันธ์กับประจำเดือน
  • ถุงน้ำเนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor) พบได้ทั้งชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ชนิดBorderline และมะเร็งลุกลามส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ที่พบบ่อย คือ เนื้องอกรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (epithelial ovarian tumor)
  • เนื้องอกรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (epithelial ovarian tumor) มักพบชนิด serous cystadenoma,
  • mucinous cystadenomas เกิดจากเนื้อเยื่อรังไข่ผลิตของเหลวหรือเมือกภายในถุงน้ำ มีความผิดปกติของ ฮอร์โมนในร่างกาย หรือยาที่กระตุ้นฮอร์โมน มักมาด้วยคลำได้ก้อน หรืออาการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง ผุ้ป่วยจำเป้นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
  • เนื้องอกชนิด เดอมอยด์ (Dermoid Cyst , mature cystic teratoma) ที่เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน ซึ่งจะมีทั้งไขมัน เส้นขน ผิวหนัง หรือฟันอยู่ภายในถุงน้ำ มักเป็นเนื้องอกชนิดไม่ใช่เนื้อร้าย พบได้บ่อย และ 20%ของผู้ป่วย มาด้วยอาการจากการบิดขั้ว ปวดท้องเฉียบพลัน
  • ฝีปีกมดลูก (tubo-ovarian abscess)ติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน บริเวณท่อนำไข่ และรังไข่ เกิดเป็นก้อนฝีหนองขึ้น มักมีประวัติการอักเสบในอุ้งเชิงกราน (pelvic inflammatory disease) ผู้ป่วยอาจจะมีไข้ ร่วมกับปวดท้องน้อยมาก ตรวจภายในพบก้อนกดเจ็บ และหากปล่อยจนเป็นฝีหนองแล้วแตกจะเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)โอกาสพบได้น้อยกว่าถุงน้ำอื่นๆข้างต้นมาก แต่อันตรายไม่หายขาดหากได้รับการรักษาที่ช้าไป มักเกิดในรายมีความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยวัยหลังหมดประจำเดือน , มีประวัติก้อนโตเร็ว , ประวัติเคยเป็นมะเร็งมาก่อน หรือ ลักษณะที่น่าสงสัยจากการตรวจร่างกาย หรือภาพคลื่นเสียงความถี่สูง หรือสารบ่งชี้มะเร็งที่ผิดปกติ
  • ตั้งครรภ์ (Pregnancy) การตั้งครรภ์อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดถุงน้ำในรังไข่ร่วมได้ เพราะตามปกติถุงน้ำในรังไข่จะเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการตั้งครรภ์ระยะแรกจนกว่าร่างกายจะสร้างรกขึ้นมา แต่ในบางครั้งถุงน้ำนั้นอาจยังคงอยู่ในรังไข่ต่อไป อาจจำเป้นต้องนึกถึงในบางกรณีที่พบก้อน/ถุงน้ำที่ปีกมดลูก

การวินิจฉัย

     สตรีที่มาด้วยก้อนในอุ้งเชิงกราน แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง หรือทางช่องคลอด หรือทางทวารหนัก เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจับภาพอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน วิธีการนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถรู้รูปร่าง ขนาด และลักษณะของถุงน้ำ รวมทั้งบริเวณที่เกิดถุงน้ำด้วย วิธีนี้ถือว่าปลอดภัย ใช้ค่าใช้จ่ายน้อย และมีความน่าเชื่อถือสูง

     ส่วนการตรวจภาพเอกเรย์คอมพิวเตอร์ (computerized tomography ( CT scan)) หรือภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging ( MRI)) จะมีบทบาทในกรณีมีข้อจำกัดของการตรวจอักลตราซาวน์เบื้องต้น สามารถประเมินรอยโรคได้ละเอียดขึ้น เช่น ระยะลุกลามของรอยโรคไปอวัยวะข้างเคียง การแพร่กระจาย ต่อมน้ำเหลือง

     การใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ช่วยให้ผู้ป่วยทราบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งการตั้งครรภ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดถุงน้ำในรังไข่ได้

     การตรวจเลือด เป็นการตรวจระดับฮอร์โมนในกระแสเลือด เพื่อหาความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดถุงน้ำอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน

     บางราย อาจจำเป็นต้องตรวจสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ (Tumor markers)  เพื่อทำนายความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ ควรพิจารณาในรายที่มีความเสี่ยง แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

    1. CA125 , HE4 , CA19-9 , CEA
    2. AFP , hCG , LDH

การรักษาถุงน้ำในรังไข่

     โดยปกติแล้ว ถุงน้ำในรังไข่จะหายไปได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา ซึ่งแพทย์อาจตรวจร่างกายซ้ำภายใน 1-3 เดือน เพื่อดูว่าถุงน้ำมีขนาดเล็กลงหรือหายไปหรือไม่ หากถุงน้ำในรังไข่ไม่หายไปเอง แพทย์อาจพิจารณาวิธีรักษาอย่างเหมาะสม เช่น

  • การใช้ยา หากผู้ป่วยมีถุงน้ำเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แพทย์อาจให้ใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมน เพื่อยับยั้งการตกไข่และลดโอกาสการเกิดซ้ำ หากวินิจฉัย ถุงน้ำช๊อคโกแลต (endometritic cyst) การให้ยาฮอร์โมนรักษา ถือเป็นการรักษาหลัก ในกกรณียังไม่ต้องการมีบุตร เพื่อยับยั้งการดำเนินโรคได้ดี
  • การผ่าตัดส่องกล้องแพทย์จะเจาะรูเล็ก ๆ ตรงหรือต่ำกว่าสะดือ เพื่อส่องดูภายในอุ้งเชิงกรานและนำถุงน้ำออกมา ข้อดีคือแผลเล็ก เจ็บแผลน้อยกว่า และการฟื้นตัวเร็วกว่าการเปิดเหน้าท้อง วิธีนี้เหมาะใช้รักษาถุงน้ำที่ไม่สงสัยเซลล์มะเร็ง ไม่มีผังผืดมาก
  • การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แพทย์เปิดแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง แผลอาจลงแนวกลางหรือ แนวขวางเหนือหัวหน่าว แพทย์มักเลือกใช้วิธีนี้ในการรักษาในกรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่ หรือ มีผังผืดมาก หรือถุงน้ำสงสัยภาวะมะเร็ง หรือต้องทำการผ่าตัดมาก โดยจะผ่าตัดเปิดหน้าท้องและนำถุงน้ำออกมา หรือตัดทั้งมดลูกและรังไข่2ข้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำในรังไข่

     ถุงน้ำในรังไข่ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ และสามารถหายไปได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาอย่างไรก็ตาม ปัญหาถุงน้ำในรังไข่หากไม่หายเอง อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • ภาวะรังไข่บิดขั้ว เป็นภาวะที่ถุงน้ำขยายใหญ่ มีน้ำหนัก เกิดการบิดขั้วจนขาดเลือด ผู้ป่วยมักจะปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน คลื่นไส้ และอาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาอาจติดเชื้อได้ จึงเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องผ่าตัดอย่างหนึ่ง
  • ภาวะถุงน้ำในรังไข่แตก บางกรณีถุงน้ำในรังไข่ขนาดใหญ่อาจแตกจะทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงและมีเลือดออกภายในช่องท้องได้ เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจมีอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่ติดเชื้อ หากถุงน้ำขนาดใหญ่ อาจเป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรีย ทำให้ติดเชื้อตามมา ผู่ป่วยจมาด้วยอาการปวดท้องร่วมกับเป็นไข้ มีตกขาวหรือ เลือดออกทางช่องคลอด จำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อและการผ่าตัดแล้วแต่กรณี

การป้องกันการเกิดถุงน้ำในรังไข่

     เนื่องจากยังไม่มีวิธีใดป้องกันการเกิดถุงน้ำในรังไข่ได้ ผู้หญิงจึงควรไปตรวจภายในเป็นประจำ เพื่อเพิ่มโอกาสการตรวจพบ ผู้ที่มีถุงน้ำในรังไข่เกิดขึ้นบ่อยๆ แพทย์อาจให้ ใช้ยาฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการตกไข่ และนัดตรวจติดตามอาการประจำ

     นอกจากนี้ หากผู้ป่วยสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น มีอาการผิดปกติในระหว่างที่มีรอบเดือน ปวดท้องน้อยอย่างต่อเนื่อง ท้องดูใหญ่ผิดปกติ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ท้องอืด เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ


Scroll to Top