ทันตกรรมบดเคี้ยวและขากรรไกร

ทันตกรรมบดเคี้ยวและขากรรไกร

ทันตกรรมบดเคี้ยว (OCCLUSION DENTISTRY)

ทันตกรรมบดเคี้ยว คือ การรักษาแขนงหนึ่งที่มุ่งเน้นรักษาการบดเคี้ยวที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อกล้ามเนื้อบดเคี้ยว และข้อต่อขากรรไกร ซึ่งในปัจจุบันสาเหตุที่พบกันมาก คือ การนอนกัดฟัน (Bruxism)

การนอนกัดฟัน (Bruxism)

คือภาวะที่ผู้ป่วยมีการกัดฟันขณะที่นอนหลับ ซึ่งอาจสังเกตุได้จากหลังจากตื่นขึ้นมีอาการปวดเมื่อยแก้ม หรือคนข้างๆทักว่ามีการกัดฟันขณะนอนหลับซึ่งบางรายจะมีเสียงการกัดฟันค่อนข้างดังในขณะที่นอนนั้นแรงกัดจะมีแรงมากกว่าในขณะรู้สึกตัวหลายเท่าทำให้ปัญหาฟันสึก แตกร้าว และเกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรได้

ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกร

ข้อต่อขากรรไกรอยู่บริเวณหน้าหูทั้งสองข้าง เป็นข้อต่อระหว่างกระดูกขากรรไกรล่าง (condyle) และกระดูกกะโหลกศีรษะ (skull) โดยมีแผ่นรองข้อต่อ (disc) คั่นกลาง ทำให้การเคลื่อนไหวขากรรไกรเป็นไปได้อย่างราบรื่น ทั้งยังประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและเอ็นยึด (ligament) เรียกโดยรวมว่่า Temporomandibular Joint (TMJ) และเรียกโรคหรืออาการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกรว่า Temporomandibular Joint Disorder (TMD)

 อาการของความผิดปกติของกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกร (TMD)
  • ปวดบริเวณข้อต่อ(หน้าหู) และ/หรือ ปวดกล้ามเนื้อบริเวณกราม แก้ม ใบหน้า ขมับ
  • อ้าปากไม่ขึ้นหรืออ้าได้น้อยลง อ้าแล้วเจ็บ
  • เคยอ้าปากแล้วขากรรไกรค้าง
  • มีเสียงคลิก (clicking) เวลาอ้าปากหุบปาก
  • อ้าปากแล้วเบี้ยว เจ็บเวลาเคี้ยวอาหาร
  • บางรายอาจมีอาการเจ็บในหู ปวดศีรษะหรือ migraines ร่วมด้วย
สาเหตุของ TMD ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
  • การสบฟันที่ผิดปกติ (malocclusion)
  • การเสียสมดุลของระบบบดเคี้ยว เช่น การถอนฟันกรามออกโดยไม่ได้ใส่ฟันทดแทน ทำให้ฟันข้างเคียงและฟันตรงข้ามเคลื่อนมาสู่ช่องว่างนี้ ทำให้เกิดการสบกระแทก ส่งแรงที่ผิดปกติสู่ข้อต่อขากรรไกร
  • อุบัติเหตุบริเวณข้อต่อขากรรไกร
  • เคี้ยวอาหารข้างเดียวทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลกัน
  • ชอบเคี้ยวอาหารแข็ง เหนียว เคี้ยวหมากฝรั่งเป็นประจำ
  • นอนกัดฟัน (bruxism)
  • ความเครียด

โดยปกติเมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อต่อ กระดูกขากรรไกรล่าง (condyle) จะเคลื่อนที่ไปพร้อมกันแผ่นรองข้อต่อจึงไม่มีเสียงดังเกิดขึ้น แต่เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น แผ่นรองข้อต่อจะถูกดันไปด้านหน้าแต่ข้อต่อขากรรไกรล่าง (condyle) จะถูกดันไปด้านหลัง เมื่ออ้าปาก condyle จะกระโดดขึ้นมาอยู่บน disc ทำให้เกิดเสียง (clicking) และเมื่อหุบปาก condyle จะถูกดันลงจาก disc เกิดเสียงดังอีกคร้ังหน่ึง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจเกิดความเสื่อมในข้อต่อขากรรไกร (internal Derangement) ไปในระดับที่รุนแรงมากขึ้นหากมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่เหมาะสม เช่น การใส่เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองก่อนมาพบทันตแพทย์ได้ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงอาหารแข็ง เหนียว กรอบ งดเคี้ยวหมากฝรั่ง เลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ หลีกเลี่ยงการอ้าปากกว้างๆหรือกัดอาหารคำใหญ่ๆ
  2. หากมีอาการปวดกล้ามเนื้อทำให้อ้าปากได้น้อย (1-2 นิ้วของผู้ป่วย) โดยเฉพาะหลังตื่นนอนตอนเช้า ให้ใช้นิ้วชี้-กลาง-นาง ทำการนวดกดจุดที่ปวด 15-30 นาที สลับประคบด้วยผ้าร้อนและเปียก 15-20 นาที จะช่วยลดอาการเจ็บปวดและทำให้อ้าปากได้กว้างขึ้นก่อนมาพบทันตแพทย์
ระยะเวลาการรักษาทันตกรรมบดเคี้ยว

ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับทันตแพทย์เป็นผู้พิจารณาว่าควรได้รับการรักษาาด้วยวิธีใด ซึ่งที่พบได้บ่อยคือการใส่เฝือกสบฟัน ซึ่งจะต้องมีการพบทันตแพทย์มากกว่า 1 ครั้ง เพื่อทำการพิมพ์ปาก และหลังจากนั้นอีกประมาณ 1 อาทิตย์จึงมาใส่เฝือกสบฟันและปรับแก้ไข และอาจจะต้องมีการนัดเพิ่มเติมเพื่อดูอาการซึ่งทางคลินิกทันตกรรมดิไอวรี่มุ่งมั่นให้บริการที่รวดเร็วทันใจ เพื่อให้ท่านได้รับการรักษาได้เร็วที่สุด

Scroll to Top