ทันตกรรมรักษาโรคนอนกรน

ทันตกรรมรักษาโรคนอนกรน

ทันตกรรมรักษาโรคนอนกรน

ทันตอุปกรณ์เป็นทางเลือกที่ดีถ้าเลือกเคสได้เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยนอนกรน และหรือมีการหยุดหายใจขณะหลับร่วม ทันตอุปกรณ์ทำจากวัสดุทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานความปลอดภัย ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการนอน (Dental sleep medicine) เป็นผู้ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยการพิมพ์ฟันผู้ป่วย เพื่อนำมาผลิตทันตอุปกรณ์เฉพาะบุคคล (Custom-made oral appliance) ผู้ป่วยสวมทันตอุปกรณ์ได้เองตามคำแนะนำของทันตแพทย์ โดยสวมที่ฟันบนและฟันล่างในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยและทันตแพทย์สามารถปรับทันตอุปกรณ์เพื่อให้ขากรรไกรล่างยื่นเข้าออกได้

ทันตอุปกรณ์ช่วยลดนอนกรน/หยุดหายใจได้อย่างไร

ทันตอุปกรณ์จะช่วยทำให้ลิ้นขากรรไกรล่างและเนื้อเยื่อในลำคอไม่หย่อนตัวไปอุดกั้นทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ ทำให้ทางเดินหายใจกว้างและกล้ามเนื้อตึงตัวมากขึ้น หายใจได้สะดวก ลดการนอนกรน และทำให้นอนหลับสนิทดีขึ้น การรักษาได้ผลดีในผู้ป่วยที่นอนกรนอย่างเดียว หรือนอนกรนรวมกับหยุดหายใจในระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง (Sleep test) มีค่าการหยุดหายใจไม่เกิน 29 ครั้งต่อชั่วโมง (AHI<29) หรือผู้ป่วยที่มีการหยุดหายใจรุนแรงมากที่เคยรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) แต่ไม่ได้ผล

ทันตอุปกรณ์สามารถใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา เช่น ใช้ร่วมกับเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกทำให้แรงดันอากาศลดลง ทำให้ใส่เครื่องอัดอากาศได้สบายขึ้น ใช้ร่วมกับการผ่าตัดบริเวณจมูก เพดานปาก ลิ้นไก่ โคนลิ้น แก้ไขการอุดกั้นของแต่ละส่วน ใช้ร่วมกับการปรับท่านอนตะแคง การบริหารคอหอย และลดน้ำหนัก ทำให้ได้ผลเร็วและชัดขึ้น ใช้เพื่อรักษานอนกัดฟันร่วมกับนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ ก่อนจะเลือกวิธีการรักษาชนิดใดก็ตาม ท่านต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน (Sleep medicine) เพื่อให้แพทย์ตรวจประเมินและวินิจฉัยด้วยการตรวจการนอน (Sleep test) ก่อน เพื่อให้ได้ข้อมุลในการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการรักษา

ผลข้างเคียงจากการรักษาไม่ได้เกิดกับทุกคน ไม่รุนแรง และดีขึ้นเมื่อปรับตัวให้คุ้นชินกับทันตอุปกรณ์ ผลข้างเคียงในระยะสั้น ในช่วงแรกอาจพบอาการเจ็บตึงเล็กน้อยบริเวณเหงือกบางซี่ ปวดเมื่อยกรามและขากรรไกรชั่วครู่หลังถอดทันตอุปกรณ์ มีน้ำลายออกมากหรือปากแห้ง ปัญหาดังกล่าวมักจะดีขึ้นหลังปรับตัวสักระยะหนึ่ง ผลข้างเคียงในระยะยาวอาจมีการสบฟันเปลี่ยนที่เล็กน้อย อย่างไรก็ตามอาการต่างๆเหล่านี้ไม่มีความรุนแรงและสามารถป้องกัน แก้ไขได้ โดยผู้ป่วยต้องมาตามที่ทันตแพทย์นัด เพื่อติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ข้อดีของทันตอุปกรณ์

ทันตอุปกรณ์มีขนาดพอดีกับปากและฟัน สะดวกสบายในการใช้ พกพาง่ายขณะเดินทางและไม่ต้องใช้ไฟฟ้า

ชนิดของทันตอุปกรณ์ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  1. ทันตอุปกรณ์ที่ช่วยยื่นขากรรไกรล่าง (Mandible Advancement Devices)
    ปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้มากที่สุด ทันตอุปกรณ์ชนิดนี้สามารถปรับขากรรไกรให้ยื่นไปหน้าหรือถอยกลับได้ เพื่อให้ได้ผลและเพิ่มความสบายในการสวมใส่ ทำจากวัสดุที่มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ในด้านที่สัมผัสกับฟันและเหงือก ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา เป็นอุปกรณ์เฉพาะบุคคล ทันตแพทย์ต้องพิมพ์ฟัน ดังนั้นจึงสวมสบายพอดีกับปากและฟัน ไม่หลุดง่ายในขณะหลับ และสามารถปรับให้ขากรรไกรล่างยื่นทีละน้อย ทำให้ลดอาการปวดขากรรไกรและเปิดทางเดินหายใจได้กว้างมากที่สุด
  1. ทันตอุปกรณ์ที่ช่วยยึดลิ้นให้ยื่นมาด้านหน้า (Tongue Retaining Devices)
    ทำให้ลิ้นไม่หย่อนตกลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีฟันหรือมีฟันเหลือน้อย
 การติดตามการรักษา

ผู้ป่วยทุกคนที่ใช้ทันตอุปกรณ์จะต้องมาตามนัดติดตามการรักษากับทันตแพทย์ ในขณะรักษาเพื่อประเมินการตอบสนองการรักษา เมื่ออาการนอนกรนและนอนหลับดีขึ้น ผู้ป่วยจะต้องมาตรวจการนอน (Sleep test) ซ้ำอีกครั้ง โดยทันตแพทย์ท่านเดิมที่รักษาจะส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจการนอนและให้ใส่ทันตอุปกรณ์นอนในคืนที่ตรวจ เพื่อประเมินผลการรักษาของค่าดัชนีการหยุดหายใจและระดับออกซิเจนในเลือด หลังจากนั้นผู้ป่วยจึงมานัดติดตามอาการกับทั้งทันตแพทย์และแพทย์ซึ่งเป็นผู้รักษาร่วมกัน

ในระยะแรกที่ใส่ทันตอุปกรณ์ ทันตแพทย์จะให้ผู้ป่วยปรับตัวกับเครื่องมือประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการและเริ่มให้ผู้ป่วยปรับทันตอุปกรณ์ให้ยื่นมากขึ้นเพื่อทำให้ผลการรักษาดีขึ้น จนอาการดีแล้วทันตแพทย์จะส่งตัวผู้ป่วยให้แพทย์เพื่อตรวจการนอน (Sleep test) ซ้ำโดยต้องสวมทันตอุปกรณ์ด้วย

ผู้ป่วยควรใส่ทันตอุปกรณ์ร่วมกับการรักษาอื่นๆ ที่ทันตแพทย์และแพทย์แนะนำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และควรรับการตรวจเพื่อติดตามอาการกับแพทย์และทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วยใช้ทันตอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง และเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย ร่วมทั้งแก้ไขปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาอย่างดีที่สุด

 การดูแลและเก็บรักษาทันตอุปกรณ์
  • เมื่อถอดทันตอุปกรณ์ตอนตื่นนอนทุกเช้า ให้ล้างด้วยนำสบู่ ร่วมกับใช้แปรงสีฟันขนอ่อนขัดเบาๆ ทั้งด้านในและด้านนอกให้สะอาด ล้างในอ่างล้างหน้าหรือหาอ่างรองป้องกันการตกพื้น
  • ซับน้ำให้แห้งแล้วเก็บไว้ในกล่องที่ให้แช่ด้วยน้ำยาหรือเม็ดแช่ทำความสะอาดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แช่นานประมาณ 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  • ซับน้ำส่วนเกิน เก็บแห้งในกล่อง ห้ามใช้น้ำร้อนลวก เพราะจะทำให้อุปกรณ์เสียรูป
  • ห้ามใช้ยาสีฟันขัดเพราะผงขัดจากยาสีฟันอาจเข้าไปอุดในเกรียวหรือร่องเล็กได้
  • หมั่นตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์สม่ำเสมอๆ
  • เมื่อทันตแพทย์นัดติดตามอาการให้นำอุปกรณ์ทุกอย่างที่ได้รับทุกชิ้นมาให้ทัตแพทย์ตรวจสภาพด้วย
Scroll to Top