ทันตกรรมสำหรับเด็ก

ลูกรักกลัวหมอ จะทําอย่างไรดี

     ความกลัวเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยโดยเฉพาะในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นกลัวความเจ็บปวด กลัวคนแปลกหน้า ความกลัวกับสถานการณ์ ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยประสบมาก่อน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุของความกลัวนั้นบางครั้งยากที่จะอธิบาย แต่ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เด็กเกิดความกลัวต่อหมอฟันหรือการรักษาทางทันตกรรมได้ เช่น ประสบการณ์การพบแพทย์ในอดีต โดยเฉพาะเด็กที่เจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยๆ ก็อาจจะกลัวคนที่ใส่ชุดฟอร์มสีขาว หรือการที่เด็กได้ฟังคําบอกเล่าเรื่องประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อการรักษาทางทันตกรรม ไม่ว่าจะเป็นจากเพื่อน ญาติพี่น้อง และสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจคาดไม่ถึงก็คือความกลัวต่อการรักษาทางทันตกรรมของตัวคุณพ่อ คุณแม่เอง ซึ่งลูกอาจจะรับรู้ได้จากพฤติกรรมบางอย่าง หรือจากสีหน้าที่มีความกังวลที่พ่อแม่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น

 

ก่อนจะพาลูกมาทําฟัน พ่อแม่มีวิธีเตรียมตัวลูก ของตนเองอย่างไรบ้าง

     การเตรียมตัวเด็กที่ดีนั้นมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเด็กและความสําเร็จในการรักษาทางทันตกรรม จากที่ กล่าวข้างต้นเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เด็กเกิดความกลัวต่อการทําฟัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงคําพูดที่น่ากลัวหรือแสดงความกังวลต่อการทําฟันให้ลูกเห็น ไม่ควรใช้หมอฟันหรือการทําฟันเป็นเครื่องมือในการขู่ลูก เช่น “ถ้าไม่ยอมแปรงฟันนะ จะจับไปให้หมอถอนฟันเลย” ซึ่งจะยิ่งทําให้ลูกฝังใจและกลัวหมอฟันมากขึ้น ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยส่งเสริมทัศนคติในทางบวกต่อการทําฟันให้แก่ลูก เช่น “คุณหมอจะช่วยให้หนูมีฟันสวยและแข็งแรง” นอกจากนี้เมื่อพบว่าลูกมีฟันผุก็ควรพาลูกมาทําฟันตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีอาการปวด หากรอให้มีอาการปวดก่อน เด็กจะยิ่งมีความกังวลในการทําฟันมากขึ้น

เมื่อมาหาหมอฟันแล้ว หากลูกกลัวหมอฟัน ไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ปกครองและทันตแพทย์ ควรทําอย่างไร

     เด็กแต่ละคนที่มีความกลัวก็จะแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เด็กที่มีความกลัวและไม่ให้ความร่วมมือ จําเป็นอย่างยิ่งที่ทันตแพทย์จะต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของความกลัวของเด็ก เพื่อใช่เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเลือกใช้วิธีการจัดการพฤติกรรม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการให้ข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ หลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของทันตแพทย์ที่จะเลือกใช้วิธีปรับพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กให้ลดความกลัว ความกังวล และยอมให้ความร่วมมือในการทําฟัน โดยวิธีที่ใช้มากที่สุดก็คือ การปรับพฤติกรรมโดยวิธีทางจิตวิทยาไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย ปลอบโยน ชมเชย ส่งเสริมให้กําลังใจ การเบี่ยงเบน ความสนใจ หรือการแยกผู้ปกครอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่อายุของเด็ก ระดับของความร่วมมือ และปริมาณงานหรือ ความเร่งด่วนของการรักษาด้วย เช่น ในเด็กเล็กตํ่ากว่า ๓ ขวบ ที่ยังพูดคุยสื่อสารกันไม่เข้าใจ หรือเด็กที่ไม่ให้ ความร่วมมืออย่างมาก ทันตแพทย์ก็อาจจะจําเป็นต้องขออนุญาตใช้ผ้าห่อตัวเด็ก (Papoose board) ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของเด็กเพื่อให้สามารถให่การรักษาได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจจะนําเสนอทางเลือกการรักษาทางทันตกรรมภายใต้การทานยาให้สงบหรือการดมสลบให้แก่ผู้ปกครองเป็นผู้ตัดสินใจ

 

ตามปกติแล้วผู้ปกครองควรเข้าไปกับลูกขณะทําการรักษาทางทันตกรรมหรือไม่

     ในปัจจุบันทันตแพทย์มักจะให้อิสระแก่ผู้ปกครองว่าจะอยู่กับลูกในห้องทําฟันหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติเมื่ออยู่ในห้องทําฟันกับลูกก็คือการอยู่เป็นเพื่อนและให้กําลังใจแบบเงียบๆ ไม่แสดงสีหน้าหวาดกลัวขณะที่หมอฟัน กําลังใหัการรักษา หรือพูดแทรกระหว่างที่หมอฟันกําลังพูดคุยกับเด็ก เนื่องจากจะทําให้เด็กสับสนว่าจะฟังใครดี ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะออกจากห้องทําฟันเมื่อคุณหมอร้องขอ ซึ่งการแยกผู้ปกครอง (Parental absence) เป็นวิธีการจัดการพฤติกรรมทางจิตวิทยาวิธีหนึ่งที่ทันตแพทย์จะใช้กับเด็กที่ร้องไห้โวยวาย ไม่ให้ความร่วมมือ และมีอายุมากกว่า 3 ขวบ เนื่องจากเป็นวัยที่สามารถสื่อสารพูดคุยกันได้เข้าใจแล้ว โดยจะต่อรองกับเด็กว่า “เมื่อหนูหยุดร้องไห้โวยวาย คุณหมอจะให้คุณแม่กลับเข้ามา” ซึ่งวิธีการนี้ เป็นวิธีการจัดการพฤติกรรมวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีเลยทีเดียว สิ่งที่ดีที่สุดที่จะทําให้ลูกน้อยไม่กลัวหมอฟันก็คือการดูแลสุขภาพช่องปากของลูกให้ดี ไม่ให้มีฟันผุ โดยควรพาลูกมาพบหมอฟันตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นหรือภายในปีแรก และตรวจฟันอย่างสมํ่าเสมอทุกๆ 6 เดือน เมื่อลูกไม่มีฟันผุ เวลาทําฟันก็ไม่เจ็บ เมื่อไม่เจ็บก็มักจะไม่กลัวหมอฟัน แต่เมื่อลูกมีฟันผุแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ควรเข้มแข็งที่จะพาลูกมารับการรักษาตามนัดอย่างสมํ่าเสมอ ถึงแม้ว่าลูกจะร้องไห้ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน เมื่อรู้ว่าจะพามาทําฟันก็ตาม เพื่อให้ลูกของคุณมีสุขภาพช่องปากที่ดี ซึ่งเมื่อมีสุขภาพช่องปากที่ดีแล้วก็จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการในด้านอื่นๆ ที่ดีตามไปด้วย


Scroll to Top