บ้านหมุน…อีกหนึ่งอาการที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

     เคยไหม ทันทีที่ลืมตาก็พบกับอาการบ้านหมุน อาการเวียนศีรษะ เห็นภาพคล้ายสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัว หรืออาการบ้านหมุนจริงๆแล้วอาการนี้เกิดขึ้นได้หลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นอาการทางสมอง การพักผ่อนน้อย รวมทั้งที่เกิดจากการผิดปกติบางอย่างในหูชั้นใน ล้วนทำให้เกิดอาการเวียนได้ทั้งสิ้น

บ้านหมุนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

     บ้านหมุนเป็นลักษณะของกลุ่มอาการที่เกิดเมื่อระบบควบคุมการทรงตัวทำงานผิดปกติ สาเหตุอาจแบ่งได้เป็น

     ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Vertigo) ประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเวียนศีรษะ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นใน เกิดจากอวัยวะที่ทำหน้าที่รับการทรงตัวในหูชั้นในทำงานผิดปกติ ที่พบได้บ่อยคือ

  • โรคหินปูนหลุดลอยในหูชั้นใน หรือโรคตะกอนในหูเคลื่อน ( Benign Paroxysmal Positional Vertigo – BPPV)
  • โรคมีเนียร์ ( Meniere ’s Disease ) หรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
  • การติดเชื้อของเส้นประสาทการทรงตัวหูชั้นใน (Vestibular neuritis)
  • การติดเชื้อ เช่น ภาวะหูน้ำหนวกเรื้อรัง หรือ การติดเชื้อไวรัสของหูชั้นใน
  • ภาวะขาดเลือดมาเลี้ยงอวัยวะที่รับการทรงตัว ที่พบได้บ่อยคือ บริเวณหูชั้นใน และก้านสมอง
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น มีรูรั่วของหูชั้นใน (Perilymph fistula), ความบกพร่องของการทำงานหูชั้นใน (Vestibulopathy), -เนื้องอกที่เส้นประสาทหู (Acoustic Neuroma)

     โดยปกติแล้วเรามักจะเข้าใจว่าระบบการทรงตัวของเรา จะอยู่ภายใต้การควบคุมของน้ำในหูเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วหูของเรามีความซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยควบคุมการทรงตัวและการเคลื่อนไหว ส่วนนั้นก็คือหินปูนในหูชั้นใน มาถึงจุดนี้หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าหินปูนในหูเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วเมื่ออยู่ในหูนั้นจะไม่มีอันตรายอะไรเลยหรอ แท้จริงแล้ว ในส่วนของหูชั้นใน นอกจากจะมีท่อที่เอาไว้เก็บน้ำในหู ยังมีกระเปาะเล็กๆ ที่เป็นที่อยู่ของหินปูน ซึ่งโดยปกตินั้นในกระเปาะจะประกอบไปด้วยหินปูนขนาดเล็กประมาณ 200-300 ก้อน หินปูนนี้เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รับรู้การเคลื่อนที่ในแนวระนาบ เช่น การนั่งรถเดินหน้า-ถอยหลัง หรือการขึ้น-ลงลิฟต์ แต่หินปูนนี้ควรอยู่ในกระเปาะของมันเอง ไม่หลุดร่วงออกมา แต่ถ้าเมื่อใดที่เรามีการเคลื่อนไหวศีรษะด้วยความเร็วและแรง เช่น อุบัติเหตุศีรษะกระแทก หรือนักกีฬาที่ถูกกระแทกอย่างแรง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลให้หินปูนบางส่วนหลุดออกมาได้ และนั่นสามารถทำให้เราเกิดอาการบ้านหมุนได้เช่นกัน

ความแตกต่างของอาการบ้านหมุนจาก “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” และ “โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด” คืออะไร

     อย่างที่เข้าใจว่าหน้าที่ที่เหมือนกันของน้ำในหูกับหินปูน คือการควบคุมเรื่องการทรงตัว แต่สิ่งหนึ่งของคุณสมบัติที่น้ำในหูมี แต่หินปูนในหูไม่มี คือการรับรู้เรื่องของการได้ยิน ดังนั้นถ้าคนไข้มีการเวียนหัวหรือบ้านหมุน มีอาการนานร่วมชั่วโมง ร่วมกับการได้ยินเสียงดังในหูหรือหูอื้อเป็นช่วงๆก็อาจจะวินิจฉัยคร่าวๆว่าเกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ในทางกลับกันถ้าอาการบ้านหมุนของคนไข้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้น ไม่กี่วินาที และสัมพันธ์กับการขยับศีรษะ เช่น ก้มหรือเงยคอ ล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน หรือเมื่อพลิกตะแคงตัวขณะนอน ก็พอสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนหลุด ซึ่งก็ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางหูคอจมูกเพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

เพราะแนวทางก็การรักษาที่แตกต่างกัน

     ในผู้ที่มีอาการบ้านหมุน สงสัยว่าจะเป็นโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนหลุด วิธีรักษาคือการนำหินปูนเหล่านั้นกลับเข้าที่ แต่วิธีการตรวจว่าหินปูนหลุดไปอยู่ในท่อส่วนไหนในหูชั้นใน ก็ต้องเป็นหน้าที่ของคุณหมอหูคอจมูก ในการตรวจร่างกายโดยละเอียด เพราะในหูชั้นในนั้นมีอวัยวะรับรู้การทรงตัวเป็นลักษณะท่อถึง 3 ท่อ และแต่ละท่อก็ควบคุมการทรงตัวคนละแบบ เมื่อคุณหมอตรวจพบตำแหน่งของหินปูนที่หลุดออกมาอย่างแน่ชัดแล้ว คุณหมอก็จะจับศีรษะคนไข้ขยับไปมาเบาๆซึ่งเป็นการจัดท่าในทางการแพทย์เพื่อให้หินปูนกลับเข้าตำแหน่ง

อย่าเหมารวมทุกครั้งที่มีอาการบ้านหมุน…ว่าเกิดจากหูชั้นใน

     สิ่งที่คุณหมอส่วนใหญ่เป็นห่วงคนไข้คือ เมื่อมีอาการบ้านหมุน คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าอาการไม่น่าห่วง บางคนก็รอเวลาโดยหวังว่าอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่สิ่งที่คุณหมออยากให้เกิดมากที่สุดคือ เมื่อพบความผิดปกติแล้ว คนไข้ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด เพื่อประเมินอาการและหาสาเหตุที่ชัดเจน เพราะบางครั้ง อาการบ้านหมุนที่เราเป็น อาจจะเป็นสัญญาณของโรคที่ร้ายแรงและอันตรายมากกว่าโรคที่เกิดในหู เช่น หลอดเลือดสมองตีบหรือก้อนเนื้อในสมอง ดังนั้นควรมาพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการเพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาหาสาเหตุของโรคให้ได้อย่างแม่นยำและวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดอาการซ้ำหรือในอนาคต

Scroll to Top