Post Views: 246
กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ
กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ คือ กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของหลาย ๆ ระบบ ทำให้เกิดภาวะไข่ไม่ตกหรือตกไข่แต่ไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้เกิดเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ ในรังไข่ เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยพบประมาณ 5-10%
สาเหตุการเกิด
กลุ่มอาการนี้ไม่สามารถอธิบายได้จากสาเหตุจากอวัยวะใดเพียงอวัยวะหนึ่ง เพราะพบความผิดปกติร่วมกันของ หลายระบบ แต่ความผิดปกติหลักที่พบได้แก่ ภาวะดื้อต่ออินซูลินและภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติ ตั้งแต่ Hypothalamus ต่อมใต้สมองส่วนหน้า รังไข่ ต่อมหมวกไต ตับอ่อน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกที่ซับซ้อน ไม่ทราบสาเหตุ หรือจุดตั้งต้นของกลไกได้อย่างชัดเจน
อาการและอาการแสดง
- ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจจะมีภาวะขาดระดูหรือมีรอบระดูห่าง มากกว่า 35 วัน มีการขาดหายของรอบระดูต่อเนื่องนาน 3 เดือน หรือใน 1 ปีมีระดูมาน้อยกว่า 8 ครั้ง
- ภาวะฮอร์โมนเพศชายเกิน ได้แก่ มีสิว ขนดก ผิวมัน และศีรษะล้านแบบเพศชาย โดยลักษณะการแสดงออกในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ เชื้อชาติและน้ำหนัก เป็นต้น
- ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน โดยภาวะอ้วนในผู้ป่วยกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบจะสัมพันธ์กับการอ้วนลงพุง
- ภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากมีไข่ตกไม่สม่ำเสมอหรือไข่ไม่ตกเรื้อรัง
การวินิจฉัย
- การถามประวัติเรื่องรอบประจำเดือน
- การตรวจร่างกาย กล่าวคือ ประเมินอาการแสดงของภาวะฮอร์โมนเพศชายเกิน อาการแสดงต่อภาวะดื้อต่ออินซูลิน
- การตรวจภายใน
- การอัลตราชาวด์ เพื่อดูลักษณะของถุงน้ำรังไข่และความผิดปกติอื่นๆในอุ้งเชิงกราน
- การเจาะเลือด เพื่อดูฮอร์โมนต่างๆ ทั้งฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมนอื่นๆที่อาจจะทำให้มีอาการคล้ายภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบได้ นอกจากนี้ ยังเจาะเลือดเพื่อประเมินโรคเบาหวาน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และไขมันร่วมด้วย
ความเสี่ยงของกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ภาวะแทรกช้อนระหว่างการตั้งครรภ์ คือ เพิ่มความเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ และความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- การเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ หรือ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจในอนาคต
การรักษา
- การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การลดน้ำหนักโดยการจำกัดอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน น้ำหนักที่ลดลงไป 5-7% ของน้ำหนักตั้งต้น สามารถทำให้การตอบสนองของอินซูลินดีขึ้น การตกไข่ดีขึ้น ลดโอกาสการเกิดเบาหวาน
- การรักษาโดยการใช้ยาฮอร์โมน ได้แก่ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาฮอร์โมนโปรเจสโตเจน
- การให้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย
- การให้ยาที่ช่วยเพิ่มการตอบสนองของอินซูลิน
- สำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร มีแนวทางการรักษาคือ การใช้ยากระตุ้นไข่และชักนำให้เกิดการตกไข่ แล้วทำการฉีดเชื้อ หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นต้น หรือการรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้วิธีนี้ในกรณีที่ไม่สามารถชักนำให้เกิดการตกไข่ได้ด้วยยา โดยการผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง และใช้จี้ไฟฟ้าหรือเลเซอร์เจาะไปในถุงไข่ที่บริเวณผิวของรังไข่ (Laparoscopic ovarian dilling) พบว่าสามารถลดระดับฮอร์โมนเพศชายและช่วยให้ไข่ตกได้