ภาวะท้องผูกในเด็ก

ภาวะท้องผูกในเด็ก

ท้องผูก หมายถึง การถ่ายอุจจาระผิดปกติ โดยมีลักษณะอุจจาระแข็ง ก้อนใหญ่ ถ่ายลำบาก คือถ่ายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์  หรือการมีอุจจาระเล็ดในเด็กที่ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระได้

ภาวะท้องผูกเป็นปัญหาที่สำคัญในเด็กหลายช่วงอายุ เช่น ในวัยที่ทารกเริ่มช่วงวัยของการฝึกการขับถ่ายอุจจาระหรืออายุระหว่าง 2-4 ขวบ และเมื่อเด็กต้องเข้าโรงเรียน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลต่อการขับถ่ายอุจจาระได้ เมื่ออุจจาระแข็งทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บเวลาถ่ายอุจจาระและทำให้เกิดการกลั้นอุจจาระตามมา ได้ จนเกิดเป็นปัญหาเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

การรักษา

ให้เด็กลดปริมาณนมที่กิน และเพิ่มปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะสัดส่วนของอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ แล้ว การดื่มน้ำที่พอเพียงในแต่ละวันก็มีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม พบว่าสาเหตุหลักของอาการท้องผูกเกิดจากการกลั้นอุจจาระเป็นหลัก ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการบังคับขับถ่ายอุจจาระและการสวนอุจจาระบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น และพิจารณาการกินยาระบายที่ช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการกลั้นอุจจาระเกิดจากความกลัวและต้องใช้เวลาในการลดความรู้สึกกลัว เด็กจึงจะสามารถฝึกการขับถ่ายอุจจาระได้อย่างเหมาะสมและไม่กลั้นอุจจาระอีก การกินยาระบายช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้นและถ่ายได้ง่ายขึ้นจึงเป็นการรักษาหลัก และต้องใช้เวลาในการรักษานาน ไม่ควรปรับลดยาเร็วหรือหยุดยา หากเด็กยังมีพฤติกรรมการกลั้นอุจจาระอยู่

การสำรอกหรือแหวะนม หรือ Gastroesophageal Reflux (GER)

การสำรอกหรือแหวะนม เป็นภาวะที่พบบ่อยโดยเฉพาะในเด็กวัยทารก พบว่ากว่าครึ่งของเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน มีภาวะสำรอกหรือแหวะนม

สาเหตุของการสำรอกหรือการแหวะนมในเด็กเล็ก

เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ร่วมกับขนาดของกระเพาะอาหารที่มีขนาดเล็กตามตัว ทำให้ไม่สามารถจุและย่อยนมหรืออาหารที่เด็กกินเข้าไปได้ทันการสำรอกหรือแหวะนม เป็นภาวะที่จะดีขึ้นและหายได้เองเมื่อเด็กทารกโตขึ้น พบว่าเมื่อเด็กอายุมากกว่า 1 ขวบ พบเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ยังมีอาการสำรอกหรือแหวะอยู่ อย่างไรก็ตาม จะต้องแยกกับโรคทางกายอื่น ๆ ที่มาในลักษณะที่คล้ายการสำรอกหรือแหวะ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารส่วนไพโลรัสตีบแคบ การแพ้โปรตีนจากนมวัวหรืออาหาร การเพิ่มของความดันในสมองจากการติดเชื้อหรือเนื้องอกในสมอง เป็นต้น ซึ่งมักมีสัญญาณเตือนอื่น ๆ ร่วม เช่น อาเจียนพุ่งไกล น้ำหนักลด ทารกมีอาการซึมหรือไม่สุขสบาย ร่วมด้วย

การดูแลทารกที่มีภาวะสำรอก ทำได้ง่าย โดยการปรับการกินนมให้น้อยลงแต่บ่อยครั้งขึ้น การจับเด็กทารกเรออย่างน้อย 10-15 นาทีหลังมื้อนม การป้องกันการกลืนลมกรณีที่ทารกกินนมจากขวดโดยการยกขวดนมให้สูงเมื่อนมใกล้หมดขวด อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้จับเด็กทารกนอนคว่ำหรือตะแคง แม้จะช่วยลดอาการสำรอกหรือแหวะนมได้ แต่จะเสี่ยงต่อการเกิด sudden infant death (SID) ได้ นอกจากนี้พบว่าสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่หรือการใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ เพิ่มอัตราการเกิดการสำรอกหรือแหวะนมในเด็กทารก จึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

 

Scroll to Top