ภาวะเส้นเอ็นหุ้มกระดูกข้อไหล่ฉีกขาด (ROTATOR CUFF TENDON TEAR)

อาการ ROTATOR CUFF TENDON TEAR

     คุณเคยมีอาการปวดไหล่เวลายกแขน ปวดตอนกลางคืน นอนลำบาก นอนตะแคงแล้วปวด บ้างหรือไม่ รู้หรือไม่ว่า คุณอาจจะกำลังมีภาวะเส้นเอ็นหุ้มกระดูกข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator cuff tendon tear ) ก็เป็นได้ ลองมาทำความรู้จักกับภาวะเส้นเอ็นหุ้มกระดูกข้อไหล่ฉีกขาด ให้มากขึ้นจากบทความนี้กัน

     เส้นเอ็นหุ้มกระดูกข้อไหล่ฉีกขาด นิยมแบ่งตามลักษณะของการฉีกขาด ดังนี้

    • เส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วน (Partial Rotator Cuff Tear)
    • เส้นเอ็นฉีกขาดตลอดความหนา (Full Thickness Rotator Cuff Tear)
    • เส้นเอ็นฉีกขาดขนาดใหญ่ (Massive Rotator Cuff Tear) ซึ่งมักจะมีการหดรั้งของตัวกล้ามเนื้อและปลายเส้นเอ็นที่ฉีกขาดไปไกลจากตำแหน่งเกาะเดิม

สาเหตุและอาการเส้นเอ็นหุ้มกระดูกข้อไหล่ฉีกขาด

     แบ่งเป็น 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ จากอุบัติเหตุ เช่น ล้มลงขณะที่แขนยัน หรือไหล่แขนกระแทก และ จากความเสื่อมของเส้นเอ็น (Degeneration) ตามอายุ กลุ่มหลังนี้พบได้บ่อยกว่า เกิดจากการใช้งานมานาน ๆ และอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะ 50 ปี ขึ้นไป อาการมีดังต่อไปนี้

    • ปวดเวลานอน โดยเฉพาะตอนนอนตะแคงทับไหล่
    • ปวดเวลายกแขนขึ้นหรือลงในบางมุม
    • อ่อนแรงในขณะยกหรือหมุนหัวไหล่

การตรวจวินิจฉัยภาวะเส้นเอ็นหุ้มกระดูกข้อไหล่ฉีกขาด

     เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และ อาจทำเอกซเรย์ หรือ MRI (เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) ซึ่งสามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยและช่วยในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้ต่อไป

การรักษาภาวะเส้นเอ็นหุ้มกระดูกข้อไหล่ฉีกขาด

     การรักษาภาวะเส้นเอ็นหุ้มกระดูกข้อไหล่ฉีกขาดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็น ลักษณะ และขนาดของเส้นเอ็นที่ฉีกขาด อาการปวดที่รุนแรงและรบกวนการใช้งานของไหล่ในชีวิตประจำวัน

    1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
      • เบื้องต้นแพทย์จะให้ยารับประทานร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ส่วนใหญ่ ของผู้ป่วยในกลุ่มที่มีเส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วนจะดีขึ้นและสามารถกลับไปใช้งานไหล่ได้อย่างปกติหรือใกล้เคียงปกติ บางครั้งแพทย์อาจใช้วิธีฉีดยา (ยาสเตียรอยด์หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) เข้าข้อไหล่ เสริมเข้าไป ถ้าหากการรักษาโดยวิธีนี้ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

    2. การรักษาโดยการผ่าตัด
      • ผู้ป่วยที่เป็นมานานและไม่ดีขึ้นจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยอายุน้อย ที่ยังต้องใช้งานไหล่มาก หรือผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเอ็นฉีกขาดจากอุบัติเหตุ  ปัจจุบันการผ่าตัดโดยมาตรฐานใช้วิธีผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปเย็บซ่อมเส้นเอ็นไหล่และ / หรือกรอหินปูน  ผลการรักษาค่อนข้างดีมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ขนาดของเส้นเอ็นที่ขาด โรคประตัวของผู้ป่วย โดยที่ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดนั้นพบน้อยมาก เช่น ข้อติดเชื้อ หรือ เอ็นที่ซ่อมไว้ขาดซ้ำ


Scroll to Top