ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

     ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากผิดปกติ ทำให้เกิดอาการใจสั่น มือสั่น เหนื่อยง่าย ทานจุแต่น้ำหนักลด หงุดหงิดง่าย เหงื่อออกมาก

การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

     มี 3 วิธี ประกอบด้วย การรับประทานยาต้านไทรอยด์ การผ่าตัด และการกลืนแร่รังสีไอโอดีน (I-131)

    1. การรับประทานยาต้านไทรอยด์ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีขนาดต่อมไทรอยด์ไม่โตมากและอาการไม่รุนแรง ข้อดีของการรับประทานยาต้านไทรอยด์ คือ สะดวก และมีโอกาสเกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำน้อยกว่าวิธีอื่น ส่วนข้อเสียคือ หลังจากรับประทานยา 1 ปีครึ่ง มีโอกาสหายจากไทรอยด์เป็นพิษเพียง 50% โดยหลังหยุดยามักพบเป็นซ้ำภายใน 6 เดือน ข้อเสียอื่นเช่น เสี่ยงต่อการแพ้ยาต้านไทรอยด์ ทำให้มีอาการ ไข้ เม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง ตับอักเสบได้
    2. การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีขนาดต่อมไทรอยด์โตมาก หรือ ให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล ข้อดีการผ่าตัด คือ สามารถลดขนาดต่อมไทรอยด์และภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้อย่างรวดเร็ว ส่วนข้อเสียคือ เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น เสียงแหบ ไอลำบาก สำลักง่ายจากการกระทบกระเทือนต่อเส้นประสาทเสียง, ตะคริวที่ขา ชาที่ริมฝีปากและปลายมือปลายเท้าจากการผ่าตัดถูกต่อมพาราไทรอยด์
    3. การกลืนแร่รังสีไอโอดีน (I-131) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล ได้รับผลข้างเคียงจากยาต้านไทรอยด์ หรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ข้อดีของการกลืนแร่รังสีไอโอดีน คือ สะดวก และมีโอกาสหายจากไทรอยด์เป็นพิษสูงถึง 80% ส่วนข้อเสียคือ มีโอกาสเกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำได้ ซึ่งปัจจุบันเป็นเป้าหมายในการรักษาเนื่องจาก ภาวะไทรอยด์ต่ำสามารถรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ชดเชยได้ ซึ่งสะดวกกว่าการรับประทานยาต้านไทรอยด์ในภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

การเตรียมตัวก่อนการรักษาด้วยแร่รังสีไอโอดีน (I-131)

    1. งดรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน 1 สัปดาห์ก่อนการรักษา
    2. งดรับประทานยาต้านไทรอยด์ 3 วันก่อนการรักษา
    3. กรณีผู้ป่วยหญิง ต้องตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ภายใน 2 วันก่อนการรักษา และกรณีให้นมบุตรอยู่ต้องหยุดให้นมบุตรอย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนการรักษา

การปฏิบัติตัว 7 วันแรกหลังการรักษาด้วยแร่รังสีไอโอดีน (I-131)

    1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่น โดยเว้นระยะห่างประมาณ 1-2 เมตร
    2. ดูแลรักษาความสะอาดห้องน้ำเป็นพิเศษโดยราดน้ำมาก ๆ หรือกดชักโครกหลาย ๆ ครั้งหลังการเข้าใช้ และล้างมือบ่อยๆ
    3. ใช้ช้อนกลางแยกและทำความสะอาดของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ จาน ช้อน
    4. งดการมีเพศสัมพันธ์ (ต้องคุมกำเนิดต่อประมาณ 6 เดือน)

ข้อห้ามการรักษาด้วยแร่รังสีไอโอดีน

    1. ตั้งครรภ์
    2. ให้นมบุตร

ผลการรักษาหลังการกลืนแร่รังสีไอโอดีน (I-131)

     ฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ระดับปกติ และต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลงอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มเห็นผลที่ 1 เดือน และเห็นการรักษาผลเต็มที่ ๆ 3-6 เดือน

เอกสารอ้างอิง

  1. Sridama V. Current trend in diagnosis and management of common thyroid disorders. Chula Med J 1985 Sep; 29 (9) : 1029-1042
  2. Ross, Douglas S., et al. “2016 American Thyroid Association guidelines for diagnosis and management of hyperthyroidism and other causes of thyrotoxicosis.” Thyroid 26.10 (2016): 1343-1421.
  3. Vasileiou, Melina, et al. “Thyroid disease assessment and management: summary of NICE guidance.” BMJ 368 (2020).
  4. Ziessman, H.A. and O’Malley, J.P. (2021) Nuclear medicine and molecular imaging. Philadelphia, PA: Elsevier Mosby.
  5. Mettler, F. A., & Guiberteau, M. J. (2019). Essentials of Nuclear Medicine and Molecular Imaging. Elsevier.
  6.  

Scroll to Top