รักษาอาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใขขณะหลับ ด้วยวิธีการผ่าตัด

ภาวะหยุดหายใจ…ขณะหลับ ภัยร้าย!…ที่ไม่ควรมองข้าม

     ภาวะการนอนที่ผิดปกติ สังเกตได้ด้วยตัวคุณหรือคนรอบข้าง โดยจะมีอาการรู้สึกนอนไม่อิ่มหรืออ่อนเพลีย แม้จะนอนในชั่วโมงที่เพียงพอแล้ว ปวดศีรษะ ง่วงในเวลาที่ไม่ควร หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายกว่าปกติ ความจำสั้น สุขภาพไม่แข็งแรงในเด็ก เป็นต้น  การนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ มีผลให้ร่างกายขาดอ๊อกซิเจน หัวใจทำงานหนักขณะนอนหลับ มีผลต่อสมาธิ ความจำ นำไปสู่การเกิดโรคอื่นๆได้อีกมาหมาย

นอกจากนี้ หากเกิดภาวะการนอนที่มีภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับร่วมด้วย จะสังเกตได้จากช่วงที่กรนเสียงดังและค่อยๆสลับกันเป็นช่วงๆ และหยุดหายใจไปชั่วขณะหนึ่ง หากต่อเนื่องจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากออกซิเจนในขณะหยุดหายใจจะลดต่ำลง เมื่อเกิดในผู้ที่มีอาการอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูงหรือหัวใจขาดเลือด อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การรักษาอาการกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วย “วิธีการผ่าตัดแก้ไข”

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เราจะสงสัยในกลุ่มคนที่มีอาการ ได้แก่

  1. มีอาการกรนดังมากผิดปกติ
  2. มีความง่วงหรืออ่อนเพลียในเวลากลางวันมาก
  3. หายใจติดขัดขณะนอนหลับ หรือมีคนบอกว่าหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  4. มีอาการผิดปกติอื่น ในระหว่างนอนหลับ เช่น ขากระตุกบ่อยครั้ง นอนกัดฟัน หรือมีสะดุ้งตื่นบ่อย

     หากใครมีอาการตามนี้ ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ เพื่อส่งตรวจการนอนหลับ เพื่อยืนยัน และวินิจฉัยว่า มี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ ด้วยการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) จะทำให้แพทย์ทราบ “ความรุนแรง” ของภาวะหยุดหายใจ เป็น ว่ามีการหยุดหายใจเฉลี่ยจำนวนกี่ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งในคนปกติจะมีค่านี้ไม่เกิน5ครั้งต่อชั่วโมง ความรุนแรงของโรค เราสามารถแบ่งได้ตามค่าดัชนีนี้ออกเป็นความรุนแรง3ระดับ คือ ระดับน้อย ระดับปานกลาง และระดับมาก

คนไข้กลุ่มไหนที่สามารถเลือกรักษาโดยการผ่าตัด

     เมื่อแพทย์ทราบความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจแล้ว จะนำมาพิจารณาเพื่อเลือกการรักษาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน ว่าใครเหมาะสมรักษาด้วยการผ่าตัด?  การผ่าตัดแก้ไขนอนกรนและภาวะหยุดหายใจ เหมาะในผู้ป่วยที่

  • มีโครงสร้างคอหอยที่ทำให้เกิดอาการกรน และผ่าตัดแก้ไขได้ เช่น ต่อมทอนซิลขนาดใหญ่ มีลิ้นไก่ยาวหย่อนยาน โคนลิ้นมีขนาดใหญ่
  • โครงสร้างในจมูกที่ทำให้คัดแน่นจมูก และทำให้การหายใจทางจมูกระหว่างนอนหลับไม่ดี เช่น ผนังกั้นจมูกคดเอียง เยื่อบุจมูกบวมมากจากภูมิแพ้จมูกเรื้อรัง
  • ความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจ ระดับน้อย-ปานกลาง (ทราบได้จากการตรวจการนอนหลับ)
  • ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกได้ และเลือกการรักษาโดยการผ่าตัดแทน

     การพิจารณาการผ่าตัดจะ แพทย์หมอหูคอจมูกด้านการนอนหลับ เป็นผู้ประเมินความเหมาะสม

การผ่าตัดมีวิธีการใดบ้าง

     จุดมุ่งหมายในการผ่าตัดแก้ไขอาการกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยการแก้ไขโครงสร้างตามตำแหน่งที่มีการตีบแคบขณะหลับ  ปกติแล้ว เมื่อเราหายใจขณะหลับ ลมจากผ่านจาก จมูก เข้าสู่ ช่องคอหอย บริเวณหลังลิ้นไก่ หลังโคนลิ้น และเข้าสู่หลอดลม การผ่าตัดจึงมีความต้องการแก้ไขจุดดังกล่าวนี้ ไม่ให้เกิดการหย่อนหรือตีบแคบขณะหลับ

ชนิดของการผ่าตัด

  1. ผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นจมูกที่คดเอียง
  2. ผ่าตัดจี้เยื่อบุจมูกเพื่อลดขนาดด้วยคลื่นวิทยุ
  3. การผ่าตัดต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์(ในเด็ก)
  4. การผ่าตัดตบแต่งแก้ไขลิ้นไก่หรือเพดานอ่อนที่มีความหย่อนยาน
  5. การผ่าตัดเพื่อลดขนาดโคนลิ้น หรือดึงโคนลิ้นไม่ให้ตกมากเกินไปขณะนอนหลับ

การผ่าตัดจะทำให้หายขาดหรือไม่?

    ขึ้นกับความรุนแรงของโรคก่อนผ่าตัดครับ หากผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับระดับ ความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง หลังผ่าตัดมีโอกาสหายและทำให้การหายใจขณะนอนหลับกลับมาปกติ ไม่มีการหยุดหายใหากผู้ป่วยมี ความรุนแรงค่อนข้างมาก การผ่าตัดอาจช่วยเพียงลดความรุนแรงของการหยุดหายใจลงในระดับหนึ่ง เช่น จากรุนแรงมากเหลือรุนแรงปานกลาง

     จะเห็นได้ว่า การรักษาอาการกรน รวมทั้งภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีการรักษาที่หลากหลาย ตามแต่ความเหมาะสมแต่ละบุคคล ดังนั้นหากท่านมีอาการกรน หรือสงสัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษา แพทย์ด้านการนอนหลับ เพื่อประเมินโครงสร้างใบหน้า โพรงจมูก และช่องคอหอย และพิจารณาส่งตรวจการนอนหลับ เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

Scroll to Top