วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine)

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine)

เหตุใดจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

โรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อตับโดยมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เมื่อเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีอาจมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรงอยู่2-3สัปดาห์หรืออาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยที่รุนแรงตลอดชีวิตได้ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอาจเป็นได้ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีชนิดเฉียบพลัน ทำให้เจ็บป่วยในระยะสั้นซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 6 เดือนแรกหลังจากที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจมีอาการดังนี้

  • มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • เป็นดีซ่าน (ตัวเหลืองหรือตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระเป็นสีโคลน)
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และปวดท้องใต้ชายโครงด้านขวา

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง ทำให้เจ็บป่วยระยะยาวซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่อยู่ในร่างกายของคนเรา ผู้ที่ติดเชื้อได้รับเชื้อชนิดเรื้อรังจะสามารถแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบบีไปยังผู้อื่นได้  แม้ว่าตนเองจะไม่รู้สึกหรือดูไม่มีอาการป่วยเลยก็ตาม ผู้ที่ได้รับเชื้อและเข้าสู่ภาวะของโรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังจะไม่แสดงอาการ แต่ยังคงเป็นอันตรายอยู่มากและอาจนำไปสู่อาการต่างๆ ดังนี้

  • ทำให้ตับได้รับความเสียหาย (ตับแข็ง)
  • มะเร็งตับ
  • เสียชีวิต                                                                                                           
เชื้อไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อกันได้โดยผ่านทาง
  • การคลอด (ทารกที่แม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ จะทำให้ทารกติดต่อได้ทั้งขณะคลอดหรือหลังคลอด)
  • การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เช่น มีดโกนหนวด หรือแปรงสีฟัน
  • การสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งอื่นๆของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีโดยไม่ได้ป้องกัน
  • การใช้เข็ม กระบอกฉีดยา หรืออุปกรณ์การฉีดยาชนิดอื่นๆร่วมกัน
 จะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

ทราบได้โดยการตรวจเลือด เป็นวิธีที่ใช้กันโดยแพร่หลาย สะดวก และรวดเร็ว            

 วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
  • วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี คือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดตับอักเสบ หากฉีดครบDoseตั้งแต่อายุไม่เกิน 6 เดือนอาจให้ผลป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต
  • ระดับภูมิคุ้มกันอาจค่อยๆ น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบเข้าไป ภูมิคุ้มกันก็จะกลับมาทำงานได้อย่างรวดเร็ว
ใครควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรับตับอักเสบบี

ผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทุกคนควรฉีด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อมากกว่าคนทั่วไป ดังนี้

  • ผู้ที่คนในครอบครัวมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเกี่ยวกับตับ เช่น ตับแข็ง ไขมันพอกตับ
  • ผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
  • ผู้ที่จำเป็นต้องกินยากดภูมิต้านทาน
  • ผู้ที่เดินทางต่างประเทศบ่อยๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคประจำถิ่น
  • ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างฟอกเลือด
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอายุตั้งแต่ 19-59 ปี หากอายุ 60 ปีขึ้นไป แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรฉีดหรือไม่
 วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบฉีดตอนไหน และฉีดกี่เข็ม
  • แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด และฉีดครบ 3 เข็มตั้งแต่อายุ 6-18 เดือน แต่ผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลยก็สามารถฉีดได้เช่นกัน เพราะมีโอกาสที่จะรับเชื้อได้เมื่ออายุมากขึ้นระยะเวลาการฉีดทั้ง 3 เข็มอาจมีดังนี้
  • เข็มแรก สามารถนัดวันและเวลาได้ตามที่สะดวก
  • เข็มที่สอง ฉีดห่างจากเข็มแรก 1 เดือน
  • เข็มที่สาม ฉีดห่างจากเข็มแรก 6 เดือน
  • หากลืมฉีดหรือมีเหตุให้ต้องเลื่อนนัด ให้รีบกลับไปปรึกษาแพทย์ทันทีที่สะดวก เพื่อให้แพทย์ประเมินความเหมาะสมในการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป
 ผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี       

โดยปกติวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่บางคนอาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย ดังนี้ มีผื่นหรือรอยแดงบริเวณที่ฉีด ปวดหัว เวียนหัว อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีไข้ คลื่นไส้

โดยสรุปแล้ว แม้จะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้บ้าง แต่หากเทียบผลกระทบกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ การฉีดวัคซีนป้องกันก็ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

คำแนะนำในการดูแลตัวเองหากเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อไม่ให้ลุกลามรุนแรงต่อไป
  • ไม่รับประทานยาพร่ำเพรื่อ ติดต่อกันเป็นเวลานานโดย ขาดความรู้ที่ถูกต้อง
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
  • งดดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านตับเพื่อประเมินภาวะโรค และควรตรวจเช็คตับทุก 3-6 เดือน
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างเสริมภูมิต้านทานโรค
Scroll to Top