วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ

 

ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A) คืออะไร

     ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A) คือ โรคที่มีการอักเสบของตับจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (HAV) ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ การสัมผัสกับสิ่งสกปรกและอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อหรือผู้ที่ติดเชื้อและจากการบริโภคน้ำหรืออาหารที่ผิดสุขอนามัย หากไม่ได้รับการรักษาจนมีการพัฒนาของโรค อาจนำไปสู่ภาวะรุนแรงอย่าง เช่น ตับวาย ได้แม้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อยนักก็ตาม

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบเอ

     หลังจากได้รับเชื้อ ระยะการฟักตัวของเชื้อจะอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์ ก่อนจะมีอาการแสดงออกมา โดยผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่ป่วยเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิต อาการที่พบในระยะเริ่มแรก ได้แก่

  • มีไข้อ่อน ๆ (มักต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส)
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่สบาย
  • ปวดหัว ไอ เจ็บคอ
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องผูก หรือท้องร่วง
  • ปวดบริเวณท้องด้านบนขวา
  • ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ
  • อาจมีผื่นลมพิษ มีผดผื่นคัน

     ส่วนอาการหลังมีการพัฒนาโรคที่รุนแรงขึ้น ได้แก่ คันตามผิวหนัง มีภาวะดีซ่าน ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีอ่อน บริเวณท้องด้านบนขวาบวมและเจ็บปวดเมื่อกดลงไป โดยสัญญาณสำคัญของอาการป่วยขั้นรุนแรง ที่แสดงว่าไวรัสได้แพร่กระจายจนส่งผลต่อการทำงานของตับ คือ ง่วงซึม สับสน ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับความจำและการตั้งสมาธิ มีจ้ำเลือด มีเลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนอย่างกะทันหันหรืออาเจียนอย่างหนัก

**หากมีอาการที่น่าสงสัยดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที**

สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบเอ

     โรคไวรัสตับอักเสบเอเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอจากผู้ที่ติดเชื้อ ผ่านการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยที่ไม่ปรุงให้สุกและไม่ผ่านการล้างทำความสะอาด ทำให้ยังมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ หรือไม่ล้างมือหลังสัมผัสสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วใช้มือหยิบจับในการรับประทานอาหารหรือปรุงอาหาร และสิ่งที่เป็นสาเหตุแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย อย่างเช่น ได้รับเชื้อผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบเอ

     ใช้วิธีการตรวจเลือดหาภูมิต้านทานโรคต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (HAV-specific Immunoglobulin ) วิธีนี้สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อ 2 แบบ คือ Anti HAV IgM ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นในระยะแรกของการติดเชื้อ แสดงถึงภาวะการติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน และ Anti HAV total Ab ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นทั้งในระยะหลังของการติดเชื้อ แสดงถึงร่างกายได้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบเอแล้ว หรือเคยได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอมาก่อนโดยภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะสามารถคงอยู่ไปตลอด

     ส่วนการส่งตรวจเพื่อหาผลเพิ่มเติม ใช้ในกรณีที่ตรวจด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ทราบผลที่แน่ชัด จึงจะใช้วิธีตรวจหาสารพันธุกรรมในเลือดด้วยการเพิ่มจำนวนพันธุกรรม RNA ของไวรัสตับอักเสบเอ แล้วดูผลจากสารเรืองแสงในห้องปฏิบัติการ (Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction) เนื่องจากปริมาณของสารพันธุกรรมของเชื้อที่ปนอยู่ในเลือดมีน้อยมาก การตรวจจึงต้องใช้วิธีการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมเพื่อการตรวจหาเชื้อที่แน่ชัดขึ้น แต่ไม่ได้ใช้ตรวจในกรณีทั่ว ๆ ไป

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบเอ

     ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่เด็ดขาดในการรักษาไวรัสตับอักเสบเอ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการที่ปรากฏ โดยอาการป่วยจะทุเลาลงและค่อย ๆ ฟื้นตัวภายในเวลาประมาณ 2 เดือน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ เพิ่มเติม

     การรักษาตัวในช่วงพักฟื้น ได้แก่

  • รับประทานยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวดหัวหรือปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน แต่ทั้งนี้ การใช้ยาบรรเทาอาการต้องขึ้นอยู่กับสุขภาพของตับ หากตับมีความเสียหายจากการอักเสบมาก ควรงดการใช้ยาหากไม่จำเป็น
  • พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้นเมื่อมีอาการง่วงซึม อ่อนล้า อ่อนเพลีย
  • ลดผดผื่นคันตามผิวหนัง ให้อยู่ในบริเวณที่เย็นสบาย มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น รวมทั้งสวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง แพ้ง่าย และระคายเคือง หากมีผดผื่นคันรุนแรง แพทย์อาจให้ใช้ยาต้านฮิสตามีนเพื่อบรรเทาอาการ
  • รับประทานอาหาร ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย เพื่อลดปัญหาอาการคลื่นไส้อาเจียน หากอาการยังทรงตัวและไม่ดีขึ้น แพทย์จะให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนเพื่อรักษาอาการ
  • ให้สารน้ำทดแทน ในผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนและท้องร่วงหนัก แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานสารละลายเกลือแร่ หรือเติมน้ำเกลือเข้าร่างกายทางหลอดเลือดดำ
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งเพิ่มความเครียดให้ตับ ทำให้ตับทำงานหนักขึ้น ส่งผลต่อกระบวนการอักเสบเดิมที่มีอยู่แล้วให้อาการทรุดลงได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบเอ

     การป่วยด้วยไวรัสตับอักเสบเอ ไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ตับในระยะยาวหรือเรื้อรังเหมือนไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น ๆ แต่ในบางกรณีที่พบได้น้อยมาก คือ ไวรัสตับอักเสบเอ อาจส่งผลต่อการทำงานของตับจนทำให้ตับทำงานล้มเหลวหรือเกิดตับวายอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงวัยหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับตับอย่างเรื้อรังมาก่อนหน้า ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อควบคุมรักษาอาการไม่ให้โรคพัฒนาร้ายแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ

     ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบเอ หลังจากฉีดวัคซีนประมาณ 1 เดือน วัคซีนจะมีผลเกือบ 100% ในทางป้องกันโรค โดยวัคซีนจะเริ่มมีประสิทธิภาพในสัปดาห์ที่ 2 หลังการฉีดเข็มแรก และฉีดซ้ำอีกครั้งเพื่อประสิทธิผลทางการป้องกันในระยะยาว หลังจากฉีดเข็มแรกไปแล้วประมาณ 6 เดือน

     การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป โดยผู้ที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันเป็นกรณีพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับตับอย่างเรื้อรัง ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ทั้งจากคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ดูแลผู้ป่วย หรือผู้ที่ทำงานในบ่อบำบัดน้ำเสีย ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน และผู้ที่ใช้เข็มร่วมกันในการใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย

     ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโดยทั่วไป คือ รอยบวมแดงและความเจ็บปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งอาการมักจะเป็นไม่นานนัก ส่วนอาการอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในบางราย ได้แก่ อาจมีไข้อ่อนๆ รู้สึกไม่สบาย อ่อนล้า ปวดหัว และไม่อยากอาหาร 

     ดูแลตนเองด้วยการรักษาสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารสะอาดและปรุงสุก ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสสิ่งสกปรก หลีกเลี่ยงการสัมผัสของเสียจากผู้ติดเชื้อ หรือจากบ่อน้ำเสีย น้ำทิ้ง ทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

     ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ หากมีอาการของภาวะดีซ่าน ผู้ที่ป่วยควรลางานหรือหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ ดูแลสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นทาน ซักล้างทำความสะอาดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวแยกจากผู้อื่น ล้างห้องน้ำบ่อย ๆ และงดการมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่กำลังติดเชื้อ


Scroll to Top