Post Views: 373
หุ่นยนต์บำบัด Hybrid Assistive Limb (HAL)
ถูกออกแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัท Cyberdyne เพื่อช่วยเหลือ ผู้ที่มีปัญหาทางระบบประสาท การเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือเส้นประสาทไขสันหลังขาด อาจส่งผลให้เดินไม่ได้ แต่จากการศึกษางานวิจัยที่ญี่ปุ่นพบว่า ยังมีสัญญาณประสาทที่หลงเหลือและรั่วมาถึงผิวหนังอยู่ ทางประเทศญี่ปุ่นจึงศึกษาวิจัยต่อ และได้คิดตัวช่วยที่สามารถขยายสัญญาณประสาทที่หลงเหลืออยู่นี้มาที่กล้ามเนื้อ ทำให้คนไข้ที่ขาขยับไม่ได้ มีแรงกลับมาเดินได้อีกครั้ง
การทำงานของหุ่นยนต์บำบัด
โดยทั่วไปแล้วหากเราต้องการขยับขา จะเริ่มต้นที่สมอง สมองจะส่งสัญญาณมาที่เส้นประสาทไขสันหลัง และส่งมาที่รากประสาทที่มาเลี้ยงขา และส่งมาที่ขา เราจะขยับขาทันทีที่เราคิดเลย หุ่นยนต์บำบัดก็ทำหน้าที่เหมือนกัน มี 5 ขั้นตอนดังนี้
- Think คิดก่อน
- Send ส่งสัญญาณมาที่ไขสันหลัง
- Read เครื่องขยายสัญญาณก็จะอ่านที่รั่วบนผิวหนัง โดยใช้ซอฟต์แวร์ขยายให้ใหญ่ขึ้นและส่งสัญญาณมาที่เซนเซอร์ที่ขา
- Move กล้ามเนื้อขยับได้
- Feedback ส่งสัญญาณกลับไปที่สมอง ทำให้คนไข้เกิดการเรียนรู้ คนไข้มีแรงน้อยเราก็ช่วยเยอะ คนไข้มีแรงเยอะเราก็ช่วยแรงน้อย โดยควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรล
หุ่นยนต์บำบัดเหมาะกับใคร
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะของระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อม, โรคพาร์กินสัน, โรคอัลไซเมอร์, โรคฮันติงตัน และโรคกล้ามเนื้อลีบจากพันธุกรรม
- กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือการบาดเจ็บของสมองและ ไขสันหลัง
- กลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุ และต้องฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังเข้ารับการผ่าตัด
- กลุ่มคนที่มีการบาดเจ็บที่สมอง และศีรษะ
หุ่นยนต์บำบัด มีอุปกรณ์อะไรบ้าง
- อุปกรณ์สวมภายนอก น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม
- เข็มขัดสวมที่เอว เป็นตัวรวบรวมเครื่องอ่านและขยายสัญญาณประสาท
- ตัวรับสัญญาณที่กล้ามเนื้อ
ขั้นตอนเข้ารับการรักษาโดยใช้หุ่นยนต์บำบัด
- ติดต่อนัดพบแพทย์ สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่เชี่ยวชาญเรื่องหุ่นยนต์บำบัดโดยเฉพาะ
- ตรวจซักประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง โรคประจำตัว และข้อห้ามต่างๆ เพื่อการใช้หุ่นยนต์
- ตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อนำมาจัดเตรียมโปรแกรมเฉพาะบุคคล
- เริ่มทดสอบหุ่นยนต์ เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน เป็นเวลา 30 นาที
- ถ้าเริ่มคุ้นชินแล้วจะใช้เวลาในการรักษาประมาณครั้งละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 10-12 ครั้ง อาการก็จะเริ่มดีขึ้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความมั่นใจของคนไข้
ประโยชน์จากการรักษา และผลที่ได้รับจากการฟื้นฟู
- ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่มีความผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยกำหนดแนวทางการเดินที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยมั่นใจในการก้าวขา และได้ขยับร่างกายมากขึ้น
- ช่วยเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยที่เข้ารับการกายภาพบำบัดจะสามารถเดินได้ไกลมากขึ้น
- ช่วยให้สมองได้เกิดการเรียนรู้ ทำให้การหัดเดินทำได้รวดเร็วขึ้น