อันตราย… ลูกนอนกรนอย่ามองเป็นเรื่องเล็ก

 

 

ลูกนอนกรน… อย่ามองเป็นเรื่องเล็ก

     การนอนกรนในเด็กอาจเป็นอันตรายได้หากเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลงหรือหยุดหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง

     อาการกรน (Snoring) คือเสียงที่เกิดจากกระแสลมที่ผ่านทางเดินหายใจที่ตีบแคบขณะหลับ มักเป็นจากตำแหน่งในจมูก หรือคอหอย เมื่อลมผ่านที่แคบทำให้เกิดการสั่นของเนื้อเยื่อรอบๆ เกิดเป็นเสียงขึ้น ในเวลาปกติลมหายใจจะผ่านจากรูจมูก เข้าสู่ช่องหลังโพรงจมูกลงในคอหอยและลงในปอด ส่วนขณะหลับ กล้ามเนื้อคอหอยจะหย่อนตัวลง และมีโคนลิ้นตก ทำให้ช่องในคอหอยแคบลง แต่กลไกธรรมชาติจะยังมีการตึงตัวของกล้ามเนื้อบางส่วน ทำให้ทางเดินหายใจขณะหลับไม่ติดขัดขณะหลับ

     เด็กสามารถมีอาการนอนกรนได้ แต่ในเด็กบางคนอาจไม่ใช่แค่ภาวะนอนกรน แต่มีปัญหาบางอย่างที่ทำให้มีการตีบแคบของช่องทางเดินหายใจ ทำให้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea)

ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยในเด็กได้แก่

  • ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์มีขนาดใหญ่ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ในเด็กวัย 2-8 ขวบ
  • ในเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ เป็นสาเหตุที่พบในเด็กโต เพราะไขมันสะสมตามกล้ามเนื้อรอบคอหอยและลิ้น ทำให้ทางเดินหายใจยิ่งปิดแคบขณะหลับ
  • ความผิดปกติในโครงใบหน้าแต่กำเนิด ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เช่น เด็กดาวน์ซินโดรม
  • ภาวะหยุดหายใจในเด็กถ้าทิ้งไว้ไม่รักษา จะทำให้เด็กเกิดผลแทรกซ้อนในระยะสั้นและระยะยาว เพราะเมื่อการนอนของเด็กถูกขัดจังหวะด้วยการหยุดหายใจ  เด็กจะมีระยะการนอนที่ผิดปกติ ทำให้การหลับลึกและหลับฝันน้อยลง ซึ่งช่วงการนอนเหล่านี้เป็นช่วงที่มีผลการพัฒนาสมองโดยเฉพาะสมองส่วนหน้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ คุณธรรม สมาธิ สติปัญญา และผลิตฮอร์โมนการเติบโต (Growth hormone)การพัฒนาด้านความทรงจำ (Memory) ทำให้เด็กในกลุ่มนี้ เกิดโรคสมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง มีปัญหาเรียนช้า การเรียนด้อยลง บางรายมีอาการปัสสาวะรดที่นอนบ่อย โตช้า สำหรับเด็กวัยเรียนก็อาจพบอาการง่วงระหว่างวันได้เช่นกัน ในระยะยาวหากปล่อยทิ้งไว้ เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานได้

    การรักษา

     

    การผ่าตัดต่อมทอลซิลและต่อมอะดีนอยด์

         จากการศึกษาพบว่า ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงไป เด็กแข็งแรงเป็นปกติ การกรนและหยุดหายใจลดลง การนอนมีคุณภาพ และจากการศึกษาในเด็กกลุ่มนี้พบว่าหลังผ่าตัด มีการเติบโต น้ำหนัก ส่วนสูง ฮอร์โมนเติบโต ที่กลับมาสูงกว่าก่อนผ่าตัด (เท่าในเด็กปกติ)

    การรักษาอื่นๆ

    1. ยารับประทานและยาพ่นจมูกเสตียรอยด์ มีการศึกษาว่า สามารถลดขนาดของต่อมอะดีนอยด์ที่มีขนาดใหญ่ได้ แต่ผลการตอบสนองแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน ส่วนมากแพทย์มักจะสั่ง ก่อนพิจารณาผ่าตัด
    2. เครื่องอัดอากาศ ในกรณีที่มีปัญหายังมีการหยุดหายใจหลังผ่าตัดต่อมออกแล้ว หรือกลุ่มที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ มีโรคร่วมหลายอย่าง
    3. ทันตอุปกรณ์จุดประสงค์คือเป็นอุปกรณ์ที่ใส่ในปากขณะหลับ เพื่อลดการตกลงของลิ้น ขยายขนาดภายในคอหอยขณะหลับ

         อย่างไรก็ตามหากสงสัยว่าบุตรหลานของท่านมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจสังเกตง่ายๆได้จาก เด็กที่มีปัญหานอนกรน ร่วมกับขณะหลับ พบว่ามีช่วงหยุดหายใจ หายใจเฮือก ใช้แรงในการหายใจมาก หรือ ปัญหาสมาธิสั้น ไฮเปอร์ มีปัญหาด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์พฤติกรรมฉี่รดที่นอนแม้เลยวัยแล้ว   
         แนะนำให้พาบุตรหลานพบแพทย์เฉพาะทางขอคำปรึกษาเพื่อตรวจ และใช้การตรวจการนอนหลับ(Sleep Test) ในการวินิจฉัย เพื่อหาแนวทางการรักษาและแก้ไขที่เหมาะสม


    Scroll to Top