เป็นมะเร็งออกกำลังกายได้หรือไม่?

คนไข้ที่รักการออกกำลังกายแต่ติดปัญหาเรื่องสุขภาพภายหลังการรักษาโรคมะเร็ง และไม่แน่ใจว่าจะสามารถกลับไปออกกำลังกายได้เหมือนเดิมหรือไม่นั้น


วันนี้เรามีคำตอบจาก “พญ. วรรศมล มหาพรรณ” แพทย์ประจำศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลปิยะเวท มาเป็นแนวทางให้กับคนไข้ที่รักการออกกำลังกายทุกคน

ตำแหน่งของมะเร็ง” ปัจจัยสำคัญ…เรื่องการออกกำลังกายในผู้ป่วยมะเร็ง

 
     สำหรับคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งและทำการรักษาด้วยการให้คีโมเทอราปี (Chemotherapy) หรือ ยาเคมีบำบัด หากมีความต้องการออกกำลังกาย จะสามารถออกกำลังกายได้เหมือนคนปกติทั่วไป เพียงแต่ตำแหน่งของการเกิดโรคมะเร็งต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการออกกำลังกายมากนัก เช่น คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งในปอด แล้วต้องผ่าตัดปอดออกไปเหลือเพียงหนึ่งข้าง การออกกำลังกายจะส่งผลให้ปอดข้างนั้นทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ออกซิเจนกับเลือดอย่างเพียงพอ ทำให้คนไข้เหนื่อยง่าย เราจึงต้องดูรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล
     อีกตัวอย่างหนึ่งคือผู้ป่วยโรคมะเร็งในกระดูก ก็อาจส่งผลกระทบต่อการออกกำลังกายได้เช่นกัน เพราะมะเร็งในกระดูกจะส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายที่มีการกระแทก กระเทือนได้ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ หลังจบการรักษาก็สามารถกลับไปวิ่งมาราธอนได้เหมือนนักกีฬาทั่วไป

งดออกกำลังกาย! หากอยู่ในระหว่างการรักษาด้วยการฉายแสง


     สำหรับคนไข้โรคมะเร็งที่กำลังอยู่ในโปรแกรมการรักษาด้วยการฉายแสงนั้น แม้ว่าจะเป็นโรคมะเร็งในอวัยวะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการออกกำลังกาย “ควรงดการออกกำลังกาย” ไว้ก่อน รวมไปถึง…งดทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้เหงื่อออกมากกว่าปกติ เพราะการที่มีเหงื่อออกจะทำให้ผิวหนังที่กำลังรับการรักษาด้วยการฉายแสงอยู่ อาจเกิดการเปื่อย ถลอก หรือเป็นแผลได้ง่ายขึ้น ควรรอเวลาให้ฉายแสงจนครบและผิวหนังบริเวณฉายแสงกลับมาเป็นปกติก่อน
ส่วนใหญ่คนไข้สามารถออกกำลังกายได้หลังจบโปรแกรมการรักษาด้วยการฉายแสง ประมาณเป็นเดือน
2 – 3 เดือนขึ้นไป หรือทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาที่จะวินิจฉัยว่าคนไข้สามารถกลับไปออกกำลังกายเมื่อไหร่ และควรออกกำลังกายในรูปแบบไหนจึงเหมาะสม

Scroll to Top