เรียนรู้ เข้าใจ “วัณโรค”

วัณโรค คืออะไร

วัณโรค ไม่ได้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ มัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) มีรูปร่างเป็นแท่ง มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องย้อมสีด้วยวิธีพิเศษและดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ขยายจึงจะเห็นตัวเชื้อวัณโรค วัณโรค สามารถเป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ปอด ลำไส้ ไต กระดูก ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง และเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหามากในปัจจุบันคือ วัณโรคปอด

วัณโรค ติดต่อได้อย่างไร

เชื้อวัณโรค ติดต่อโดยการแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งทางระบบหายใจ โดยผู้ป่วยที่มีเชื้อในเสมหะ พูด คุย ไอ จาม โดยไม่ปิดปาก เชื่อวัณโรคจะลอยไปกับละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ จามออกมา ละอองที่มีขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้นดิน ส่วนละอองขนาดเล็กจะล่องลอยไปในอากาศ ผู้ที่สูดหายใจเอาชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีโอกาสติดชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้ แต่ผู้ที่ได้รับชื่อแล้ว ไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นวัณโรคทุกคน เพราะร่างกายมีกลไกหลายอย่างที่จะต่อสู้และป้องกันเชื้อวัณโรค มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคเท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค เชื้อวัณโรคจากเสมหะที่ปลิวในอากาศโดยไม่ถูกแสงแดด จะมีชีวิตอยู่ได้นาน 8-10 วัน แสงอาทิตย์จะทำลายเชื้อวัณโรคได้ภายใน 5 นาที และจะถูกทำลายได้ในน้ำเดือด 2 นาที การทำลายเชื่อจากเสมหะที่ดีสุดจึงควรใช้ความร้อน เช่น การเผาทิ้ง

วัณโรคปอด มีอาการอย่างไร

ผู้ป่วยวัณโรคจะมีอาการหลายชนิด แต่อาการสำคัญของวัณโรคปอด คือ
  • ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
  • ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะหรือไอมีเสมหะปนเลือด
  • เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ
  • มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
  • เหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน

รู้ได้อย่างไรว่าเป็น วัณโรคปอด

  • การตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์
    เป็นวิธีที่สามารถบอกได้แน่นอนว่าผู้ป่วยเป็นวัณโรคปอด เพราะสามารถมองเห็นเชื้อวัณโรคปอดในเสมหะได้การตรวจเสมหะเพื่อหาเชื้อวัณโรคควรตรวจ 2 ครั้ง
  • การเอกซเรย์
    การเอกซเรย์ปอดอย่างเดียวไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าป่วยเป็นวัณโรคปอด ต้องได้รับการตรวจเสมหะร่วมด้วย
  • การเพาะเชื้อวัณโรค
    ในรายที่สงสัยว่าเป็นวัณโรค แต่ตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ

เมื่อไหร่ควรไปตรวจหาเชื้อวัณโรค

  • ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
  • มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • เมื่อมีญาติหรือผู้ใกล้ชิดป่วยเป็นวัณโรคปอด
  • ตรวจสุขภาพประจำปี กรณีที่ไม่มีอาการ แต่ถ้ามีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ/ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น เป็นโรคเบาหวาน ติดสารเสพติดหรือติดเชื้อเอชไอวีควรตรวจทุก 3-6 เดือน เพื่อใช้ในการประกอบการขอใบรับรองแพทย์

ปัจจัยสำคัญอาจป่วยเป็นวัณโรค

  • อยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่ได้รับการรักษา เช่น พักอาศัยบ้านเดียวกันหรือทำงานร่วมกัน
  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือป่วยเป็นโรคเอดส์
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ หรือโรคไต เป็นต้น
  • ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันนานๆ เช่น ยากลุ่มสเตรียรอยด์
  • การจัดลักษณะที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงาน ที่ใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา หรือสภาพแวดล้อมที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือชุมชนแออัด
  • การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และการเสพสารเสพติด
  • ทำงานและดูแลผู้ป่วยวัณโรค

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรขณะป่วยและรักษา

  • กินยาตามชนิดและขนาดที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง จนกว่าแพทย์สั่งหยุดยา
  • เมื่อกินยาประมาณ 2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้น ห้ามหยุดยาเป็นอันขาด จะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา รักษาหายยาก
  • ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม เพื่อป้องกันมิให้เชื้อแพร่กระจายไปสู้ผู้อื่น
  • ควรงดเหล้า บุหรี่ และสารเสพติดทุกชนิด
  • บ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือกระป้อง แล้วเทลงในส้วม ฝังดิน หรือนำไปเผา
  • จัดสถานที่พักอาศัยให้อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง และหมั่นนำเครื่องนอนออกตากแดด
  • กินอาหารได้ทุกชนิดที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ควรนำผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านหรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็ก ไปรับการตรวจร่างกายตามโรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน

DOT กับการรักษาวัณโรค

DOT (Directly Observed Treatment) เป็นการรักษาวัณโรค แบบมีพี่เลี้ยงคอยดูแลผู้ป่วยโดยพี่เลี้ยงจะต้อง

  • ดูแล กำกับการกินยาของผู้ป่วยวัณโรค พร้อมบันทึกการกินยาของผู้ป่วยวัณโรค
  • ให้กำลังใจให้ผู้ป่วยกินยาครบตามกำหนดการรักษา
  • แนะนำการปฏิบัติตนในการรักษาวัณโรค รวมถึงการแนะนำเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงหรืออาการแพ้ยา
  • หมั่นย้ำเรื่องการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
  • รักษาความลับของผู้ป่วย ไม่พูดคุยเรื่องการรักษาวัณโรคให้ผู้อื่นรู้
  • ให้ข้อมูลผู้ป่วยแก่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น ความสม่ำเสมอในการกินยา
  • อาการทั่วไป ปัญหาที่พบมีความรู้เกี่ยวกับวัณโรค เช่น อาการการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรค การรักษา การป้องกัน

อาการข้างเคียงที่อาจพบจากการกินยารักษาวัณโรค

  • ผื่นคันตามตัว
  • คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
  • ปวดข้อ
  • หูอื้อ
  • อาการตามัว
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง (ตับอักเสบ)
  • ซึมเศร้า โรคจิต
อาการแบบไม่รุนแรง

ผื่นคันเล็กน้อย มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ชาตามปลายมือปลายเท้า ปวดข้อ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย ให้ยารักษาตามอาการ

อาการรุนแรง

มีผื่นเป็นเม็ดแดงนูนเต็มตัว หูตึงหูอื้อ เดินเซ ตัวเหลือง ตาเหลือง ตามัว สับสน อาการทางจิต ให้หยุดยาแล้วไปพบแพทย์

วัณโรครักษาหายได้

ปัจจุบันมียารักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพสูง

  • หากินยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอใช้เวลาเพียง 6-8 เดือนเท่านั้น (ในอดีตใช้เวลารักษานาน 1 ปี 6 เดือน ถึง 2 ปี) โดยการรักษาแบบมีผู้คอยกำกับดูแลการกินยาผู้ป่วยตามขนาดทุกมื้อให้ครบถ้วน คอยให้กำลังใจและให้คำแนะนำ (การรักษาแบบมีพี่เลี้ยงหรือ DOT)
  • ผู้ป่วยวัณโรค หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ขาดยา หรือกินยาไม่ต่อเนื่อง จะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา ทำให้ยากต่อการรักษา และอาจแพร่เชื้อวัณโรคดื้อยาสู่ผู้อื่นได้

อาการอย่างไรที่แสดงว่าดีขึ้นจากการรักษาวัณโรค

  • อาการไอลดลง
  • อาการมีไข้ลดลง
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น

อาการดีขึ้นแล้วหยุดยาได้ไหม?
ผู้ป่วยวัณโรคจะมีแผลและเชื้อวัณโรคอยู่ในปอด การรักษาวัณโรคในปัจจุบันไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เพียงแต่กินยาตามที่แพทย์แนะนำทุกวัน อาการต่างๆจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ อย่าหยุดกินยาเป็นอันขาด เพราะเชื้อวัณโรคในปอดยังไม่หมดไป การหยุดกินยาหรือกินไม่ครบอาจทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา ซึ่งจะยากลำบากในการรักษามากขึ้นอีกและอาจรักษาไม่หายก็ได้

ควรปฏิบัติตัวอย่างไร…ไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรค

  • ควรตรวจเช็คร่างกาย โดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • นำเด็กแรกเกิดไปรับการฉีดวัคซีนบีซีจีที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
  • หากมีอาการสงสัยป่วยเป็นวัณโรค ควรรีบไปตรวจร่างกาย
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและกินอาการที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
  • เด็กเล็กและคนชราไม่ควรคลุกคลีกับผู้ป่วยวัณโรค
  • ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้าน ควรเอาใจใส่ดูแล ให้กินยาอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดยาจนครบมาตรฐานการรักษา

วัณโรคกับเอดส์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

  • การติดเชื้อเอชไอวี ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้รวดเร็วและรุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี
  • วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยเอดส์
  • ผู้ติดเชื้อเอซไอวีที่ป่วยเป็นวัณโรค มีสถิติการเสียชีวิตมากกว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ป่วยเป็นวัณโรค

แพ็กเกจแนะนำ

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์อายุกรรม ชั้น G อาคารโรงพยาบาลปิยะเวท
เปิดให้บริการทุกวัน จันทร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00-19.00 น.
โทร. : 061-397-9275
Call Center : 02-129-5555
Hot Line : 1489
Scroll to Top