โรคจอตาในเด็กคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of prematurity, ROP)

โรคจอตาในเด็กคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of prematurity, ROP)


โรคจอตาในเด็กคลอดก่อนกำหนด (
Retinopathy of prematurity, ROP)
เป็นโรคความผิดปกติของจอตาซึ่งพบได้ในทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย เกิดจากความผิดปกติของการพัฒนาการของหลอดเลือดปกติที่ไปเลี้ยงจอตา มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติ ซึ่งอาจกระจายตัวเข้าไปในน้ำวุ้นตา มีการสร้างพังผืดดึงรั้งจอตาเกิดภาวะจอตาหลุดลอกตามมาได้ การวางแผนการรักษาและตรวจติดตามผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ เพื่อลดโอกาสการสูญเสียการมองเห็นและลดความรุนแรงของโรค

ปัจจัยเสี่ยง
  • ทารกน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1,500 กรัม
  • ทารกคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 30 สัปดาห์
  • ทารกได้รับออกซิเจนเป็นระยะเวลานาน ความเข้มข้นออกซิเจนสูง
  • การได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือการให้เลือด
  • มีภาวะโรคปอด respiratory distress syndrome
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด
การแบ่งระดับความรุนแรงของโรค  แบ่งระดับความรุนแรงโรคได้ 5 ระยะ
  • ระยะที่1 มีรอยต่อระหว่างบริเวณที่มีและไม่มีหลอดเลือดมาลี้ยง
  • ระยะที่2 มีการหนาตัวของรอยต่อระหว่างบริเวณที่มีและไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง
  • ระยะที่3 มีการสร้างหลอดเลือดใหม่เข้าไปในวุ้นตา
  • ระยะที่4 มีการหลุดลอกของจอตาบางส่วน (subtotal retinal detachment)
  • ระยะที่5 มีการลอกจอตาทั้งหมด (retinal detachment)
ข้อบ่งชี้การตรวจ ROP
  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 สัปดาห์ หรือน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1500 กรัม
  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์มากกว่า 30 สัปดาห์ หรอน้ำหนักแรกคลอด 1500-2000 กรัม ที่มีความเสี่ยงในการเกิดจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด
ระยะที่เหมาะสมในการตรวจติดตาม
  • ตรวจครั้งแรกเมื่ออายุหลังคลอด 4-6 สัปดาห์ หรืออายุครรภ์บวกอายุหลังคลอดที่ 31-32 สัปดาห์ 
  • การติดตามผลหลังการตรวจครั้งแรกให้ตรวจทุก 1-4 สัปดาห์ และตรวจติดตามจนกว่าจะพบว่าหลอดเลือดจอตาเจริญเต็มที่ หรือโรคสงบลงแล้ว
การรักษา

ทารกควรได้รับการรักษาภายใน 72 ชั่วโมง หากโรคจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด มีความรุนแรง มีข้อบ่งชี้ในการรักษา แพทย์จะเลือกวิธีใดขึ้นกับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ วิธีรักษา ได้แก่

  • Laser photocoagulation เป็นการยิงเลเซอร์ชนิด Diode laser ซึ่งมีความยาวคลื่น 810 nm โดยการยิงเลเซอร์ตรงบริเวณที่ยังไม่มีหลอดเลือดงอกมาเลี้ยง
  • Cryotherapy การจี้ด้วยความเย็นบริเวณจอตาส่วนริม
  • การฉีดยา anti-VEGF (vascular endothelial growth factor) ซึ่งเป็นยาต้านการเกิดหลอดเลือดใหม่เข้าในวุ้นตา เพื่อยับยั้งหรือขจัดหลอดเลือดใหม่ในทารกบางราย
  • หากตรวจพบจอตาลอก อาจต้องผ่าตัดวุ้นตา (vitrectomy) แก้ไขจอตาลอก
คำแนะนำ

ในทารกคลอดก่อนกำหนดและทารกที่เป็นโรคจอตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด แม้โรคจะไม่ได้ดำเนินถึงระยะรุนแรงที่จะต้องทำการรักษา ก็อาจมีโอกาสเกิดปัญหาอื่นๆ ในภายหลังได้เช่นกัน แนะนำให้ผู้ป่วยติดตามอาการ และมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจตา ซึ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้น  ได้แก่

  • สายตาสั้น ยาว เอียง
  • ตาเหล่ ตาเข
  • ภาวะตาขี้เกียจ
  • จอตาหลุดลอก
  • ต้อกระจกหรือต้อหินในอายุน้อย
Scroll to Top