โรคจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-related Macular Degeneration, AMD)


     โรคจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า AMD เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็นอย่างรุนแรง โรคนี้เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยเฉพาะในส่วนของจอประสาทตา ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะสูญเสียความสามารถในการมองเห็นส่วนตรงกลาง โดยที่การมองเห็นในด้านขอบของภาพยังคงใช้ได้ดี

ชนิดของโรคจอประสาทตาเสื่อม มี 2 ชนิด

      1. แบบแห้ง (Dry AMD) เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด จะมีการเสื่อมและบางลงของบริเวณจุดรับภาพชัดของจอประสาทตา (macula) จากการเสื่อมตามอายุ ความสามารถในการมองเห็นจะค่อยๆ ลดลง และเป็นไปอย่างช้าๆ
      2. แบบเปียก (Wet AMD) พบประมาณ 15-20 % ของโรคจอประสาทตาทั้งหมด มีการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดในโรคนี้ เกิดจากการที่มีเส้นเลือดผิดปกติงอกอยู่ใต้จอประสาทตา มีการรั่วซึมของเลือดและสารเหลวจากเส้นเลือด ทำให้จุดรับภาพชัดบวม ผู้ป่วยจะเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยวและมืดลงในที่สุด

    สาเหตุ

     
    • อายุ พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และอุบัติการณ์เกิดมากขึ้นตามอายุ
    • พันธุกรรม มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม โดยพบว่า 50% ของผู้ป่วยจะมีประวัติที่คนในครอบครัวเป็นมาก่อน
    • เชื้อชาติ พบอุบัติการณ์ของโรคสูงสุดในคนผิวขาว
    • เพศ เพศหญิงมากกว่าเพศชายในกลุ่มที่อายุมากกว่า 60 ปี
    • บุหรี่ มีหลักฐานทางการศึกษาพบว่าการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างชัดเจน และมีโอกาสที่จะเกิดจอประสาทตาเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า มีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า ในการเกิดโรคจอตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD)
    • ความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง มีความเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วในรายที่เป็นแบบเปียก (Wet AMD)
    • วัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจน พบว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน

    จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม


         อาการและอาการแสดงของโรคจอตาเสื่อมอาจแสดงอาการแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยอาจะไม่สังเกตถึงความผิดปกติในการมองเห็นได้เองตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่เป็น โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังปกติ อาการเริ่มต้นของโรค มีดังนี้

        • เห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นคดบิดเบี้ยว ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยจะสังเกตไม่พบ เนื่องจากตาอีกข้างยังมองเห็นดีอยู่ แต่ถ้ามีจอประสาทตาเสื่อมทั้ง2ข้าง ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงความผิดปกติในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัด ส่วนกลางของภาพที่มองขาดหาย หรือมืดดำหรือภาพที่เห็นดูบิดเบี้ยวไป

        • อ่านหนังสือหรือทำงานที่ต้องใช้สายตาละเอียดได้ยากกว่าปกติ

        • มีปัญหาในการสังเกตดูความแตกต่างของหน้าคน

        • ไม่เห็นส่วนกลางของภาพที่มองเห็น

        • การมองเห็นลดลงมนตอนกลางคืน หรือเห็นความสดของสีลดลง
          จักษุแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตความผิดปกติด้วยตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยการใช้แผ่น Amsler grid ถ้ามองเห็นภาพที่ Amsler grid บิดเบี้ยวผิดปกติ จะต้องไปพบจักษุแพทย์ทันที

      การรักษา


           ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้โรคจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาดได้ การรักษามีเพียงช่วยรักษาการมองเห็นให้คงอยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) พบว่าวิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระมีส่วนทำให้เกิดโรคช้าลง ในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำลายเส้นเลือดงอกใหม่ที่ผิดปกติในจอประสาทตา

          • การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ (Laser photocoagulation) เมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยมีเส้นเลือดงอกผิดปกติ ซึ่งสามารถรักษาโดยเลเซอร์ได้ จะใช้แสงเลเซอร์ยิงเข้าไปในจอประสาทตาของผู้ป่วยเพื่อทำลายเส้นเลือดผิดปกตินั้น วิธีการนี้ไม่เพียงทำลายเส้นเลือดที่ผิดปกติแต่ยังทำลายจอประสาทตาส่วนดีที่อยู่ติดกับเส้นเลือดนั้นๆด้วย จักษุแพทย์จะไม่ใช้วิธีนี้ในการรักษาจอประสาทตาเสื่อมที่มีรอยโรคบริเวณศูนย์กลางการมองเห็น เพราะจะทำให้การมองเห็นลดลงมาก

          • การรักษาด้วยวิธีโฟโตไดนามิค (Photodynamic therapy, PDT) เป็นการรักษาโดยการใช้ยา verteporfin ร่วมกับเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดความร้อน วิธีการนี้มี 2 ขั้นตอน คือ ฉีดยา verteporfin เข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งยานี้อยู่ในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์ และจะกระจายไปในกระแสเลือดจับตัวสะสมอยู่ในบริเวณผนังของเส้นเลือดที่งอกผิดปกติ จากนั้นจะใช้แสงเลเซอร์สีแดงที่มีกำลังต่ำ (มีพลังงานน้อยไม่เป็นอันตรายต่อจอประสาทตา) ฉายเข้าในในตา เพื่อกระตุ้นตัวยาให้เปลี่ยนเป็นสภาพที่พร้อมออกฤทธิ์ โดยยานี้จะทำให้หลอดเลือดที่ผิดปกติเกิดการอุดตัน ทำให้รอยโรคลดลงหรือหายไป พบว่าการรักษาวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสูญเสียสายตาน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ทำการรักษา ปัจจุบันยังเป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัยและให้ผลดี

          • การรักษาด้วยการฉีด Anti-VEGF เข้าในน้ำวุ้นตา Anti-VEGF เป็นโปรตีนขนาดเล็กโดยจะไปจับกับ vascular endothelial growth factor (VEGF) ทำให้ VEGF ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ทำให้เกิดการยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่งอกผิดปกติ พบว่าให้ผลในการรักษาที่ดี โดยทำให้ผู้ป่วยคงความสามารถในการมองเห็น และนอกจากนี้ยังทำให้เพิ่มการมองเห็นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอีกด้วย วิธีนี้เป็นการรักษาแนวใหม่และยับยั้งสาเหตุของการเกิดโรคได้ตรงจุดมากขึ้น ทำให้ลดโอกาสในการสูญเสียสายตาของผู้ป่วยลงได้

          • การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีข้างต้นได้ผล อาจต้องพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การผ่าตัด

        การป้องกันการเกิดโรค


         จะเห็นได้ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ แต่เราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคได้

            • สวมแว่นกันแดดเมื่อต้องออกไปอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

            • งดการสูบบุหรี่

            • แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน โดยเฉพาะลูทีน (lutein) และซีแซนทีน (zeaxanthin) ปริมาณสูง ได้แก่ แอปเปิล บร็อคโคลี่ ข้าวโพด แตงกวา องุ่น มะม่วง ส้ม ฟักทอง ผักโขม ถั่ว พริก และไข่แดง เป็นต้น

          Scroll to Top