โรคติดเชื้ออาร์เอสวี RSV

โรคติดเชื้ออาร์เอสวี RSV

ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นฤดูฝนเด็กๆมักมีภาวะเจ็บป่วยของระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อไข้หวัดใหญ่(influenza),พาราอินฟลูเอนซ่า(parainfluenza),อะดิโนไวรัส(adenovirus),ไรห์โนไวรัส(rhinoviruses)และส่วนใหญ่ที่ระบาดทุกปี คือ RSV(respiratory syncytial virus)

RSV คืออะไร

RSV คือไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม ชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus มีสองสายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B เป็นไวรัสก่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจของเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งมีการระบาดเกือบทุกปี

หลังรับเชื้อนานเท่าไรจึงมีอาการป่วย(ระยะฟักตัว)

ตั้งแต่ได้รับเชื้อ RSV สามารถแสดงอาการเร็วที่สุด 2 วัน และช้าที่สุดประมาณ 8 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน

อาการเป็นอย่างไร

ช่วงแรกมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่แข็งแรงดีมักมีอาการไม่ค่อยรุนแรงและหายได้เอง แต่สำหรับเด็กเล็ก(อายุต่ำกว่า 2 ปี)ที่ติดเชื้อครั้งแรกพบได้ร้อยละ 20-30 ที่มีอาการรุนแรงลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่าง(หลอดลม เนื้อปอด)ทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบตามมา โดยมักมีอาการไข้สูง ไอแรง บางรายไอมากจนอาเจียน กินนม กินข้าว กินน้ำไม่ได้ หายใจแรงมีเสียงวี้ด หรือมีเสียงครืดคราดในลำคอ หอบเหนื่อยจนอกบุ๋ม  โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1-2 ปี เด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้

อาการแตกต่างจากหวัดธรรมดาอย่างไร

อาการไม่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาในผู้ใหญ่และในเด็กโต แต่ในเด็กเล็กเริ่มต้นจากไข้หวัดแล้วเชื้ออาจลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่างเป็นปอดอักเสบได้ มีรายงานการเกิดภาวะหอบหืดภายหลังการติดเชื้อ RSV ในผู้ป่วยบางราย

ติดต่อได้อย่างไร

ติดต่อผ่านการหายใจเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSVเพียงร้อยละ53-96 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV เช่นน้ำมูก น้ำลายหรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งเช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ของเล่น ฯลฯ เชื้อ RSVสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและสามารถอยู่ที่มือเราได้นานประมาณ 30 นาที ดังนั้นผู้ใหญ่ที่มีเด็กเล็กป่วยในบ้านควรล้างมือบ่อยๆก่อนสัมผัสเด็ก

มีวิธีการตรวจอย่างไรว่าเป็น RSV

แพทย์สามารถตรวจจากการใช้อุปกรณ์พิเศษคล้ายก้านสำลียาวๆป้ายเข้าไปทีในโพรงจมูกเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อ RSV มีแค่รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ตามอาการทุก4-6 ช.ม พร้อมกับช่วยเช็ดตัวลดไข้ ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ระวังการขาดน้ำเพราะจะยิ่งทำให้เสมหะเหนียวข้นและเชื้อลงปอดอาจต้องใช้ยาพ่นขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอยเพื่อช่วยขยายหลอดลม เคาะปอดและดูดเสมหะออก ยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์หากไม่มีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน การให้ยาสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อลดการเกิดภาวะหอบหืด

หากเด็กป่วยควรให้หยุดเรียน หยุดไปเนอเซอรี่จนกว่าอาการจะหาย หรืออย่างน้อย 5-7วัน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

แนวทางป้องกัน

  • ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน ไม่มียาป้องกัน จึงควรป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ดังนี้
  • ทุกคนในบ้านหมั่นล้างมือบ่อยๆ ทั้งมือตนเองและลูกน้อย เพราะการล้างมือ นอกจากจะลดการติดเชื้อ RSV ยังสามารถลดการติดเชื้ออื่นๆที่ติดมากับมือ ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ถึงร้อยละ 70
  • การใช้แอลกอฮอล์เจลถูมือช่วยป้องกันโรคได้ แต่แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆจะได้ประโยชน์กว่า
  • หลีกเลี่ยงเด็กทั้งสบายดีหรือป่วยไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด
  • ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เด็กที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดช้อ RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
  • ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆและให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา
  • ควรดูแลให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอด้วยการใส่เสื้อผ้าหนาๆ
  • ไม่พาเด็กไปใกล้คนป่วยหรือผู้ที่กำลังเป็นหวัด
  • ผู้ปกครองเมื่อบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ

 

Scroll to Top