โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส

เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มาด้วยอาการ “ไข้ออกผื่น” เป็นโรคที่แพร่ระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็ก สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่มักติดต่อได้ง่ายในช่วงฤดูหนาวส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella Zoster ซึ่งติดต่อได้ง่ายผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่

  1. การสัมผัสแผลหรือตุ่มที่ขึ้นตามตัวผู้ป่วย
  2. การหายใจเอาละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อเข้าไป ซึ่งติดต่อได้ง่ายมาก

อาการ

  1. หลังจากรับเชื้อสู่ร่างกายจะแสดงอาการภายใน 8-21 วัน โดยเริ่มจากมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและมีผื่นเริ่มจากลำตัว ใบหน้าและลามไปแขนขา โดยผื่นจะขึ้นพร้อมๆกับวันที่เริ่มีไข้
  2. ในระยะแรกเป็นผื่นแดงราบ ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสและคันอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นผื่นจะตกสะเก็ด ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีตุ่มขึ้นในช่องปากทำให้เจ็บคอ และทานอาหารได้น้อย
  3. เมื่อหายแล้วเชื้อไวรัสจะคงอยู่ในร่างกายโดยแฝงตัวอยู่ในปมประสาท ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคงูสวัด ในภายหลังในสภาวะที่ร่างกายอ่อนหรือมีผู้คุ้มกันต่ำ

การวินิจฉัย

โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม แต่ในบางรายอาจพิจารณาตรวจเลือด หรือตรวจหาเชื้อจากตุ่มน้ำ

ภาวะแทรกซ้อน

ในเด็กที่มีสุขภาพดีมักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง หรือ โรคแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอีกเสบ  แต่อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้นหากติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิด ผู้ที่มีภูมิคุ้มต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมทั้งผู้รับประทายากดภูมิคุ้มกันต่างๆ

การรักษา

  1. ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อ
  2. อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเพื่อให้ระยะโรคสั้นลงในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์อยู่เป็นประจำ
  3. ถ้ามีอาการไข้ให้เช็ดตัว รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยากลุ่มแอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไรย์ (Reye’s Syndrome)
  4. หากมีอาการคันที่ผิวหนังอาจทายาแก้คัน เช่น คารามาย (Calamine lotion) หรือรับประทานยาต้านฮิสตามีน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่มที่คัน เพราะจำทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้
  5. ควรแยกผู้ป่วยออกจากบุคคลอื่นจนพ้นระยะติดต่อ (ตั้งแต่ 48 ชั่วโมงก่อนผื่นขึ้น จนผื่นแห้งเป็นสะเก็ดทั้งหมด) เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค

การป้องกัน

นอกจากการหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยแล้วการฉีดวัคซีนเข้าที่ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันโรค เนื่องจากเมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มพบว่า 99 % ของผู้รับวัคซีนจะเกิดภูมิต้านทานต่อโรค           โดยแนะนำ

  • ในเด็กตั้งแต่อายุ 12-15 เดือนขึ้นไป และฉีดกระตุ้นอีกครั้งที่อายุ 18 เดือน – 4ปี
  • ในเด็กอายุมากกว่า 13 ปีและผู้ใหญ่ ให้ฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส (MMRV) ทำให้สะดวกและไม่เจ็บตัวมากขึ้น และวัคซีนเพื่อป้องกันโรคงูสวัดในผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีอีกด้วย

 

Scroll to Top