โรคเกาต์

โรคเกาต์

เป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อย มักบวมเจ็บทันทีทันใดและหายใน 2 สัปดาห์ ระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 mg/dl ในผู้ชายและสูงกว่า 6 mg/dl ในผู้หญิง หรือพบก้อนโทฟัส สัมพันธ์กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง

วินิจฉัยโดยการตรวจพบผลึกเกาต์ในน้ำไขข้อ ลักษณะเป็นรูปเข็ม ในระยะข้ออักเสบเฉียบพลันจะพบผลึกเกาต์อยู่ในเม็ดเลือดขาว กรณีที่สงสัยว่ามีข้ออักเสบติดเชื้อหรือข้ออักเสบจากผลึกชนิดอื่น ควรตรวจน้ำไขข้อและตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค

ข้ออักเสบแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเฉียบพลัน ระยะสงบคือระยะที่ไม่มีข้ออักเสบ และระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส

จุดมุ่งหมายของการรักษา

คือ เพื่อลดการอักเสบเฉียบพลันของข้อ ลดความถี่ของข้ออักเสบ ลดขนาดก้อนโทฟัส และทำให้ก้อนโทฟัสหายไป ลดการทำลายข้อ และป้องกันข้อผิดรูป ป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางไตจากกรดยูริกในเลือดสูง

การรักษาควรใช้ทั้งวิธีไม่ใช้ยาและใช้ยาร่วมกัน ปรับให้เหมาะสมเป็นรายๆ โดยประเมินจาก

  1. ปัจจัยเสี่ยงของโรค ได้แก่ ระดับกรดยูริกในเลือด ความถี่ในการกำเริบ ความผิดปกติทางภาพเอกซเรย์ข้อและกระดูก
  2. ระยะของโรค ได้แก่ ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน ระยะสงบ และระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส
  3. ปัจจัยทั่วไป ได้แก่ อายุ เพศ ความอ้วน การดื่มแอลกอฮอล์ ยาที่มีผลต่อระดับกรดยูริกในเลือด และโรคร่วมอื่นๆ

การรักษาโดยไม่ใช้ยา

คือ พักการใช้ข้อ ยกข้อให้สูง ประคบน้ำแข็ง งดบีบนวดข้อ หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่อข้อ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม รักษาโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยง

  • ลดเนื้อสัตว์ที่มีสารพรีน (purine) สูง เช่น อาหารทะเล หอย เนื้อแดง สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ และยีสต์
  • ลดผลไม้รสหวาน และเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลฟรุกโตส
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะเบียร์)
  • รับประทานนมพร่องมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำ น้ำเต้าหู้ ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงได้
  • รักษาโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ความอ้วนสูบบุหรี่ และโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักแบบช้าๆ การลดน้ำหนักเร็วเกินไปอาจทำให้เกิดข้ออักเสบกำเริบได้ ควรออกกำลังกายระดับปานกลาง
  • ผู้ป่วยที่มีประวัตินิ่วในทางเดินปัสสาวะ หากไม่มีข้อห้ามควรแนะนำให้ดื่มน้ำวันละมากกว่า 2 ลิตร

การรักษาโดยการใช้ยา

ในระยะข้ออักเสบเฉียบพลันควรเริ่มยาต้านการอักเสบให้เร็วที่สุดโดยใช้ยา colchicine และ/หรือ NSAIDs เป็นลำดับแรกหากไม่มีข้อห้ามสำหรับผู้ที่ได้รับยาลดกรดยูริกในเลือดอยู่แล้ว ควรให้ยาในขนาดเดิมต่อ ไม่ควรหยุดยาหรือเปลี่ยนขนาดยา หรือเริ่มให้ยาลดกรดยูริกในเลือด ในขณะที่ยังมีข้ออักเสบอยู่เพราะทำให้ข้ออักเสบหายช้า

ยาคอลจิซีน (Colchicine) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง 0.6 mg วันละ 2-4 ครั้งผลข้างเคียงที่พบได้คือท้องเสีย

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Diclofenac, Indomethacin, Ponstan, Piroxicam, Ibuprofen, Naproxen, Celebrex, Arcoxia ให้จนหายข้ออักเสบ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 7 วัน มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารระบบหัวใจและหลอดเลือด หลีกเลี่ยงในผู้ที่มีภาวะหัวใจวายโรคตับและไตทำงานบกพร่อง

ยาเตียรอยด์ (Steroid) ใช้ในรายที่มีข้อห้ามในการใช้ NSAIDs หรือ Colchicines เมื่ออาการดีขึ้นให้รีบลดยาลงโดยเร็ว

ข้อบ่งชี้ของการใช้ยาลดกรดยูริกในเลือด

ได้แก่ ข้ออักเสบกำเริบบ่อยกว่า 2 ครั้งต่อปี ข้ออักเสบเรื้อรัง ปุ่มโทฟัส ภาพเอกซเรย์กระดูกและข้อผิดปกติ มีนิ่วในไต การทำงานไตบกพร่อง และจำเป็นต้องใช้ยาขับปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง

จุดมุ่งหมายในการให้ยาลดกรดยูริกในเลือด

คือ ละลายผลึกเกาต์ออกจากข้อและป้องกันการตกผลึกเกาต์เพิ่มขึ้น เป้าหมายระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 6 mg/dl ถ้ามีก้อนโทฟัส ตั้งเป้าหมายระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 5 mg/dl

การเริ่มให้ยาลดกรดยูริกในเลือดจะทำภายหลังที่ข้ออักเสบหายสนิทแล้วเป็นเวลานาน 1-2 สัปดาห์ ควรเริ่มในขนาดต่ำก่อนแล้วค่อยๆปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นทุก 1-4 สัปดาห์ ตามระดับกรดยูริกในเลือดและผลข้างเคียง

ยายับยั้งการสร้างกรดยูริก เช่น Allopurinol, febuxostat (feburic) โดย Allopurinol ผลข้างเคียงที่พบได้คือผื่น คลื่นไส้ท้องเสีย ปวดศีรษะ ตับอักเสบ และผื่นแพ้ยารุนแรง (Steven-Johnson syndrome, exfoliative dermatitis, toxic epidermal necrolysis)

ยาเร่งการขับกรดยูริกทางไต เช่น Sulfinpyrazone, Probenecid, Benzbromarone ใช้ในผู้ที่แพ้ allopurinol หรือใช้ร่วมกับ allopurinol กรณีที่ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย ยาเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หากไม่มีข้อห้ามควรดื่มน้ำวันละมากกว่า 2 ลิตร

ผู้ที่ได้รับยาลดกรดยูริกในระยะแรกอาจมีข้ออักเสบกำเริบบ่อยขึ้น ควรให้ Colchicine 0.6-1.2 mg ต่อวัน ร่วมกับยาลดกรดยูริกในเลือดเพื่อป้องกันการกำเริบ และควรให้ Colchicine จนไม่มีข้ออักเสบอย่างน้อย 6 เดือน

Scroll to Top