โรคเกี่ยวกับตาที่พบบ่อย

 

 

เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis)

     เป็นโรคที่มีการอักเสบของเยื่อบุตา ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ตาขาวกลายเป็นสีแดงจากเส้นเลือดขยายตัวและมีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง เป็นได้ทั้งเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และมักมีขี้ตาร่วมด้วย ซึ่งลักษณะขี้ตาสามารถบ่งบอกถึงสาเหตุได้ หากมีลักษณะใสๆมักเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นเมือกขาวมักเกิดจากภูมิแพ้ สีเหลืองมักเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย
     ในช่วงฤดูฝนมักมีการระบาดของโรคตาแดง ซึ่งเป็นการอักเสบของเยื่อบุตาจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้มีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล อาจมีต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหูโตและเจ็บ มักเป็น 10-14วัน ซึ่งสามารถติดต่อกันอย่างรวดเร็วผ่านทางการสัมผัสน้ำตาหรือขี้ตา หรือการใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน สามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดยการแยกผู้ป่วย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น

 

ตากุ้งยิง (Hordeolum )

     เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ทำให้เกิดการอักเสบเป็นก้อนที่เปลือกตามีอาการ บวมแดง เจ็บร่วมด้วย เมื่อปล่อยไว้ไม่ได้รักษาจะกลายเป็นฝีหนอง สาเหตุเกิดจากเป็นต่อมไขมันอุดตัน แล้วมีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น การขยี้ตา ล้างเครื่องสำอางรอบดวงตาไม่สะอาด เป็นต้น
     รักษาด้วยการประคบอุ่น ครั้งละ 5-10นาที วันละ 2-3 ครั้ง ร่วมกับรับประทานยาปฏิชีวนะ หยอดยาหรือป้ายยาปฏิชีวนะ หากไม่ดีขึ้นต้องรักษาด้วยการผ่าระบายหนอง ระหว่างการรักษาควรงดการใส่คอนแทคเลนส์ และใช้เครื่องสำอางรอบดวงตา

 

ต้อลมและต้อเนื้อ

ต้อลม (Pinguecula) มีลักษณะเป็นก้อนนูนสีขาวเหลืองบนตาขาวข้างกระจกตา โดยที่ยังไม่ลุกลามเข้ากระจกตา
ต้อเนื้อ (Pterygium) มีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อรูปสามเหลี่ยมบนเยื่อบุตาขาว ที่มีการลุกลามเข้ามากระจกตา
ทั้งต้อลมและต้อเนื้อ เกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว จากการได้รับแสงอัลตราไวโอเลต หากเป็นน้อยมักไม่มีอาการ ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการคัน เคืองตา แสบตา อาจมีตาแดงอักเสบได้
     ทั้ง2ภาวะนี้สามารถป้องกันได้โดยสวมแว่นกันแดด หลีกเลี่ยงลม ฝุ่น ควัน ที่ทำให้เกิดการระคายเคือง บรรเทาอาการด้วยการหยอดยาน้ำตาเทียม หรือยาหยอดตาลดการคันตา ยาลดการอักเสบ การรักษาด้วยการผ่าตัดจะทำในกรณีต้อเนื้อเป็นมากจนบดบังการมองเห็น หรือทำให้เกิดสายตาเอียงจนตามัว หรืออักเสบเป็นๆ หายๆ ไม่ตอบสนองกับยา ทั้งนี้การลอกต้อเนื้อมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ ส่วนต้อลมไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

 

ต้อกระจก (Cataract)

     เป็นภาวะที่เลนส์แก้วตา มีการขุ่นมัว ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบมากในผู้สูงอายุ สาเหตุการเกิดต้อกระจก เกิดจากการเสื่อมตามวัยเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา ภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางตา เช่น มีการอักเสบหรือติดเชื้อในลูกตา โรคทางพันธุกรรม โรคติดเชื้อในครรภ์มารดา เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ หรือเป็นผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น เสตียรอยด์
ต้อกระจก จะทำให้มีอาการตาพร่ามัว ระดับการมองเห็นลดลงช้าๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงความผิดปกติของสายตาสั้น และเอียงมากขึ้น เห็นภาพซ้อนในตาข้างที่เป็นต้อกระจก ตาไม่สู้แสง หากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจมีภาวะต้อหินเฉียบพลันแทรกซ้อนได้
การรักษามีวิธีเดียว คือการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียม โดยข้อบ่งชี้การผ่าตัดต้อกระจก ได้แก่ การมองเห็นลดลงจากต้อกระจกซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มีภาวะแทรกซ้อนจากต้อกระจก เช่น ต้อหิน หรือมีความจำเป็นต้องตรวจรักษาโรคจอตา และมีต้อกระจกบดบัง ทำให้ไม่สามารถตรวจและรักษาได้สะดวก เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน
     การผ่าตัดมี 2 วิธี ECCE with IOL (Extracapsular Cataract Extraction) เป็นการผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาออกมา โดยเปิดแผลขนาดใหญ่ แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่และเย็บปิดแผล ใช้ในกรณีที่เลนส์แข็งมาก ต้อกระจกสุก อีกวิธีคือ Phacoemulsification with IOL เป็นการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงและใส่เลนส์แก้วตาเทียม เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก สามารถใช้เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับได้ จึงไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดได้เร็ว และใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยกว่า

 

ต้อหิน (Glaucoma)

     เป็นโรคที่มีการทำลายของขั้วประสาทตา มักเกิดจากความดันลูกตาสูง หากไม่ได้รักษาหรือรักษาไม่สม่ำเสมอจะทำให้สูญเสียการมองเห็นแบบถาวร โดยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการในระยะแรก จึงมักไม่ทราบว่าเป็นโรค เมื่อเป็นมากขึ้นลานสายตาค่อยๆ แคบลงจนถึงขั้นตาบอดได้ โรคต้อหินสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ แต่อัตราการเกิดโรคจะสูงขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นหากมีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน
ต้อหินสามารถแบ่งได้หลักๆ เป็น 2 ชนิด คือ ต้อหินชนิดมุมเปิดและขนิดมุมปิด ต้อหินชนิดมุมเปิดจะมีความดันตาสูงขึ้นอย่างช้าๆ จึงไม่มีอาการปวดตา แต่ขั้วประสาทตาจะถูกทำลายไปทีละน้อย ต่างจากต้อหินชนิดมุมปิดเฉียบพลันจะมีความดันตาสูงชึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นรัศมีรอบดวงไฟ คลื่นไส้อาเจียน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหินที่สำคัญที่สุดคือ ความดันลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน การใช้ยาสเตียรอยด์ทั้งชนิดรับประทานและยาหยอดตา เคยผ่าตัดหรือเคยได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา ประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน
การรักษาโรคต้อหิน ได้แก่ การใช้ยาหยอดตา การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ และการผ่าตัดเพื่อลดความดันลูกตา ในปัจจุบันยาหยอดมีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก การตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ อย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้

 

Scroll to Top