โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ภาวะขาดธาตุเหล็ก

หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณธาตุเหล็กไม่เพียงพอในการคงสภาพการทำงานของกระบวนการต่างๆในร่างกาย ได้แก่ การเจริญเติบโตและการพัฒนาของสมอง การทำงานของเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร การสร้างเม็ดเลือดแดง การทำงานของกล้ามเนื้อ  ซึ่งภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กนั้นเกิดจากร่างกายมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอในการนำไปสร้างเม็ดเลือดแดง ส่งผลให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงที่ลดลง หรือ เรียกว่าภาวะซีด

การวินิจฉัยภาวะซีด

คือค่าฮีโมโกลบินในเลือดน้อยกว่า 2 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในแต่ละอายุและเพศ ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ช่วงอายุ หรือ เพศ

ค่าของฮีโมโกลบิน ( Hemoglobin)

เด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี

11 กรัม/เดซิลิตร

เด็กอายุ 5 – 12 ปี

11.5 กรัม/เดซิลิตร

เด็กอายุ 12 – 15 ปี

12 กรัม/ เดซิลิตร

ผู้ผญิงอายุมากกว่า/เท่ากับ 15 ปี

12 กรัม/ เดซิลิตร

ผู้หญิงตั้งครรภ์

11 กรัม/ เดซิลิตร

ผู้ชายอายุมากกว่า/เท่ากับ 15 ปี

13 กรัม/ เดซิลิตร

สาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก

  • ความเสี่ยงในช่วงปริกำเนิดของการตั้งครรภ์ จะส่งผลให้ทารกมีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายลดลง ได้แก่ มารดามีภาวะการขาดธาตุเหล็ก ครรภ์แฝดที่มีภาวะเลือดวิ่งถ่ายเทระหว่างเด็กในครรภ์ด้วยกัน ภาวะการคลอดก่อนกำหนด
  • ภาวะที่ร่างกายต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น
  • ช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ วัยทารก เด็กก่อนวัยเรียน และ ช่วงวัยรุ่น
  • สตรีตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • ได้รับธาตุเหล็กน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย
    • ภาวะขาดสารอาหาร
    • ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ
  • มีความผิดปกติในการดูดซึมธาตุเหล็กของลำไส้
    • มีประวัติการผ่าตัดกระเพาะอาหารออก และลำไส้เล็กส่วนต้นออก ผู้ป่วยลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบเรื้อรัง
    • รับประทานยา เช่น Proton pump inhibitor, H2 blocker
    • ความผิดปกติทางพันธุกรรมในการดูดซึมธาตุเหล็ก
  • ภาวะเสียเลือดเรื้อรัง
    • มีเลือดออกทางเดินอาหาร หรือ ทางเดินปัสสาวะ
    • ประจำเดือนมามาก
    • การติดเชื้อพยาธิ

อาการและอาการแสดง

ส่วนใหญ่ของผู้ที่ขาดธาตุเหล็กนั้นไม่แสดงอาการ ในกลุ่มที่ขาดธาตุเหล็กรุนแรงพบว่ามีอาการ ซีดอ่อนเพลีย หงุดหงิด หัวใจเต้นเร็ว และ อาจพบขนาดหัวใจโตได้ รับประทานอาหารได้น้อยลง มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ คือรับประทานสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร เช่น แป้ง กระดาษ ข้าวดิบ เป็นต้น หรือ รับประทานน้ำแข็งมากกว่าปกติ นอกจากนี้ การขาดธาตุเหล็กยังมีผลต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการของสมองในเด็กการตรวจร่างกายจะพบว่า ซีด อาจพบลิ้นเลี่ยน รูปร่างของเล็บผิดปกติ

การตรวจเลือด

พบว่ามีภาวะซีดจากค่าฮีโมโกลบินต่ำ เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก และ ติดสีจาง อาจพบว่ามีจำนวนของเกล็ดเลือดสูงขึ้น การตรวจซีรั่มเฟอริติน (serum ferritin) และ ธาตุเหล็กในซีรัม (serum iron) ซึ่งเป็นการตรวจธาตุเหล็กสะสมในร่างกายจะมีค่าต่ำลง การตรวจดูค่าเปอร์เซ็นต์ความอิ่มตัวของทรานเฟอริน (transferrin saturation) ที่น้อยกว่า 16% บ่งถึงภาวะการขาดธาตุเหล็กในร่างกาย นอกจากนี้จะมีการตรวจเพิ่มเติมจากประวัติและการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากการรักษาจะต้องรักษาสาเหตุร่วมด้วย

การรักษา

  1. ให้คำแนะนำในเรื่องของโภชนาการ โดยแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง หลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางโภชนาการได้แก่การดื่มนมวัวที่มากเกินไป

แหล่งอาหารของธาตุเหล็ก

  • รูปแบบสารประกอบฮีม (Heme iron) พบใน เนื้อสัตว์ ตับ เครื่องในสัตว์ เลือด ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดี
  • รูปแบบสารประกอบที่ไม่ใช่ฮีม (non-heme iron) พบใน พืชผัก ข้าว นม ไข่แดง ร่างกายถูกดูดซึมไปใช้ได้น้อยและขึ้นกับปัจจัยส่งเสริมหรือขัดขวางการดูดซึมที่มีในอาหารด้วยกัน
  1. ให้ยาธาตุเหล็ก รับประทานขนาด 4 – 6 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม ของ elemental iron ต่อวัน แบ่งให้วันละ 2 – 3 ครั้ง ตรวจติดตามค่าฮีโมโกลบินที่ 1 เดือนหลังการเริ่มยาธาตุเหล็กจะพบว่าค่าฮีโมโกบินสูงขึ้นเกิน 1 กรัมต่อเดซิลิตร ให้การรักษาอย่างน้อย 2 เดือน หรือจนระดับฮีโมโกลบิน และ ขนาดของเม็ดเลือดแดงกลับสู่ค่าปกติ หลังจากนั้นให้ยาต่อขนาด 2 มิลลิกัม ต่อ กิโลกรัม ของ elemental iron ต่อวัน ต่อไปอีก 1 – 3 เดือน เพื่อทดแทนธาตุเหล็กสะสมในร่างกาย ยาธาตุเหล็กชนิดน้ำจะมีกลิ่นและรสชาดที่รับประทานได้ยาก สามารถผสมกับน้ำหวานเพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น และมีผลข้างเคียงระบบทางเดินอาหาร เช่นท้องผูก และไม่สบายท้อง หากมีอาการจะแนะนำให้รับประทานยาพร้อมมื้ออาหาร นอกจากนี้ยาสามารถติดสีอยู่ที่ฟันทำให้ฟันเป็นคราบดำ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการหยอดยาที่สัมผัสกับเนื้อฟันโดยตรงและเช็ดฟันหลังหยอดยา
  2. หากมีค่าฮีโมลโกลบินต่ำมาก และ มีอาการจากภาวะซีดที่รุนแรง อาจต้องได้รับเลือด

หากการรักษาดวยยาธาตุเหล็กแล้วไม่ได้ผลตามที่ควร ต้องพิจารณาถึงภาวะซีดที่มีเม็ดเลือดแดงขนาดเล็กที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย พาหะธาลัสซีเมีย ซึ่งพบได้บ่อยในประเทศไทย

แนะนำในการตรวจคัดกรองภาวะการขาดธาตุเหล็กในเด็กช่วงอายุ 6 ถึง 24 เดือน ที่คลินิกเด็กดี โดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย และ การตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการด้วยการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC) ที่อายุ 9 – 12 เดือน หากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดธาตุเหล็ก เช่น คลอดก่อนกำหนด ดื่มนมวัว มากกว่า 20 ออนซ์ต่อวันในเด็กอายุ 1 – 5 ปี เด็กป่วยเรื้อรัง อาจมีการตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 15 – 18 เดือน

การป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

  1. เสริมธาตุเหล็กในเด็กกลุ่มเสี่ยง
  • ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวน้อยที่ได้รับนมแม่อย่างเดียว เสริมธาตุเหล็ก ปริมาณ 2 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม ต่อวัน ตั้งแต่อายุ 1 เดือนจนได้รับอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ หากได้รับนมที่มีการเสริมธาตุเหล็กอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็ก
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี พิจารณาเสริมธาตุเหล็กเฉพาะในรายที่ไม่ได้รับนมที่เสริมธาตุเหล็กหรือได้อาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย2.
  1. เพิ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กมากแก่เด็กกลุ่มเสี่ยง
  • เสริมอาหารที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น วิตามิน ซี และเลี่ยงอาหารที่ลดการขัดขวางการดูดซึม
  • ป้องกันและรักษาการติดเชื้อพยาธิปากขอ

 

Scroll to Top