โรค มือ เท้า ปาก ป้องกันได้แค่เลี่ยง

โรคมือเท้าปากเป็นอย่างไร

เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดเฉียบพลัน และสามารถหายได้เอง เกิดจากเชื้อไวรัสเชื้อในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งพบเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น และมีหลากหลายสายพันธุ์ สําหรับสายพันธุ์ที่ก่อโรคมือ เท้า ปาก ได้แก่ คอกซากีไวรัส (Coxsackie virus group A, B) และเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71เป็นต้น  โรคนี้มักเกิดในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กตามสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาลฯ

ระบาดวิทยา

ในช่วงฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน (พฤษภาคม – มิถุนายน) มักพบในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุตํ่ากว่า 10 ปี ไม่ค่อยพบในวัยรุ่น การระบาดมักเกิดขึ้นบ่อยในสถานรับเลี้ยงเด็กโรงเรียนอนุบาล

อาการของโรค มือ เท้า ปาก

ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ปวดศีรษะ คลื่น ไส้ปวดเมื่อย เป็นต้น โดยจะปรากฏอาการดังกล่าวอยู่ 3-5 วัน แล้วหายได้เอง หรือมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มแผลในปาก ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อนลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปากด้านหลัง ลิ้นไก่ และต่อมทอนซิลและมักเป็นอยู่นาน 4 – 6 วัน เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะ เจ็บ อาจมีน้ำลายไหล ในบางรายอาจไม่พบตุ่มพองแต่อย่างใด แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของ ไวรัสที่มีการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อจาก เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 อาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย โดยเป็นแบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบที่ไม่รุนแรง หรือมีอาการคล้ายโปลิโอ ส่วนที่รุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตจะเป็นแบบสมองอักเสบแบบรุนแรง อาการหัวใจวาย และ/หรือมีภาวะน้ำท่วมปอดระยะฟักตัวของโรค : โดยเฉลี่ย 3 – 5 วัน

การวินิจฉัยโรค 

วินิจฉัยได้จากอาการแสดง นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเชื้อได้จากตัวอย่างจากป้ายแผล ช่องปาก และอุจจาระ มาเพาะแยกเชื้อ หรือการตรวจเลือด

การรักษาโรค มือ เท้า ปาก

ใช้การรักษาแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น การใช้ยาลดไข้หรือยาทาแก้ปวด ในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ควรเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำ น้ำผลไม้ อาหารเย็น เช่นไอศครีมและนอนพักผ่อนมากๆ แต่ในกรณีผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน เช่น รับประทานอาหารหรือนมไม่ได้, มีอาการสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะปอดบวมน้ํา กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายโปลิโอ จําเป็นต้องให้การรักษาใน ICU และดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ

คำแนะนำการดูแลเด็กป่วยโรค มือ เท้า ปาก

  • แยกเด็กป่วยให้พักอยู่บ้าน / หยุดเรียน จนกว่าตุ่มหรือผื่นแห้งเป็นสะเก็ด ประมาณ 7 – 10 วัน
  • รักษาความสะอาดบริเวณผิวหนังที่มีผื่นหรือตุ่ม ห้ามผู้ป่วยเกา ตัดเล็บให้สั้น เสื้อผ้าต้องสะอาดและแห้งอยู่เสมอ
  • เช็ดตัวและให้ยาลดไข้
  • ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด กินของเย็นได้เช่น ไอศครีม เป็นต้น ในบางรายที่มีอาการเจ็บปากมากอาจ พิจารณาให้ยากลุ่มยาชา ทาบริเวณแผลในปาก เพื่อลดอาการเจ็บ
  • แยกภาชนะในการดื่มน้ำและรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ใช้ผ้าปิดปากหรือจมูกขณะไอจาม
  • อาบน้ำด้วยสบู่อ่อน เพื่อป้องกันการระคายเคือง กรณีคัน ให้ทาคาลามายหรือรับประทานยาแก้คันตามที่แพทย์สั่ง
  • ให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ และทำความสะอาดห้องด้วยน้ำผสมผงซักฟอก หรือน้ำยาซักล้าง
  • รักษาความสะอาดร่างกาย และสิ่งแวดล้อมทุกครั้งที่ขับถ่ายโดยเฉพาะเชื้อสามารถอยู่ในอุจจาระได้นาน 2 – 3 สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจํานวนมากๆ
  • ของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ ให้ทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติ แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
  • กรณีมีอาการเปลี่ยนแปลงเลวลง ให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที ได้แก่ อาการซึม แขนขาอ่อนแรง เกร็งกระตุก ตัวเย็น อาเจียน หอบ หน้าซีด

 

Scroll to Top