การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกกับภาวะกระดูกพรุน

    การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกกับภาวะกระดูกพรุน


         ภาวะกระดูกพรุน เป็นภาวะที่มีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง เนื่องจากกลไกการสร้างและทำลายกระดูกไม่สมดุลกัน เช่น มีการสลายกระดูกมากเกินไป หรือมีการสร้างกระดูกน้อยเกินไป หรือขาดแคลเซียม ส่งผลให้กระดูกมีความเปราะบาง และสามารถแตกหักได้ง่ายจากการเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย บริเวณที่พบกระดูกหักได้บ่อย ได้แก่ บริเวณกระดูกข้อมือ กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพก
         ปกติมวลกระดูกของคนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 30-35 ปี จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง และลดลงอย่างมากในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเนื่องจากการขาดฮอร์โมนเพศ ทำให้อัตราการสูญเสียเนื้อเยื่อกระดูกเพิ่มมากกว่าปกติ 10 เท่า นอกจากนี้ การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การขาดแคลเซียมและวิตามินดี หรือการใช้ยาบางชนิดก็ทำให้มวลกระดูกลดลงได้รวดเร็วเช่นกัน

    อาการของโรคกระดูกพรุน


         ระยะแรกมักไม่มีอาการ หากเริ่มมีอาการแสดงว่าเป็นโรคมากแล้วโดยอาการสำคัญของโรค ได้แก่ รู้สึกปวดตามบริเวณข้อมือ เอว หลัง หรือเริ่มมีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น หลังโก่งค่อม ไหล่งุ้ม หรือเตี้ยลง เป็นต้น

    จะทราบได้อย่างไรว่ามีภาวะกระดูกพรุน


         การตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนสามารถทำได้หลายวิธี สำหรับวิธีที่นิยมมากที่สุด คือการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density, BMD) ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ช่วยให้ทราบว่ากระดูกมีความแข็งแรงในระดับใด และมีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ โดยการใช้รังสี X-ray พลังงานต่ำสะท้อนภาพเนื้อเยื่อกระดูก เพื่อวัดหาค่าความหนาแน่นของกระดูกบริเวณนั้น ค่าที่ได้จะถูกเปรียบเทียบกับค่าปกติของคนทั่วไป ซึ่งจะทราบผลการตรวจอย่างรวดเร็ว แม่นยำ ไม่เจ็บปวดและปลอดภัย

    บุคคลที่ควรเข้ารับการตรวจวัดความแน่นของกระดูก

    • ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
    • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
    • ผู้หญิงและผู้ชายทุกกลุ่มอายุที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีมวลกระดูกต่ำ ได้แก่ มีประวัติกระดูกเปราะและ หักง่าย, มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน, น้ำหนักตัวน้อย ดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 19, ได้รับยาบางชนิดที่ทำให้มวลกระดูกลดลง เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษาโรคลมชัก ยารักษามะเร็ง เป็นต้น
    • ผู้ที่มีโรคหรือภาวะที่ทำให้มวลกระดูกลดลง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคต่อมไทรอยด์และโรคต่อมพาราไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคการดูดซึมของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
    • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่จัด ชอบดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำอัดลม ไม่ออกกำลังกาย
    • ผู้ป่วยที่แพทย์ต้องการติดตามผลการรักษา หลังจากให้ยาเพื่อรักษาภาวะกระดูกพรุน

    การเตรียมตัวก่อนตรวจ

    • ในวันตรวจสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ
    • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการตรวจ ในกรณีที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ใส่เหล็กดามกระดูก หรือใส่ข้อสะโพกเทียม
    • ควรแจ้งแพทย์และนักรังสีเทคนิค หากกำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ เนื่องจากรังสีมีผลต่อเด็กในครรภ์
    • ควรแจ้งแพทย์และนักรังสีเทคนิค หากได้รับการกลืนแร่ หรือได้รับสารทึบแสง เพื่อทำ CT หรือตรวจทางเดินอาหารมาก่อน อาจจะต้องเลื่อนการตรวจออกไป เพื่อให้ได้ภาพที่สามารถใช้ในการวินิจฉัยได้

    ขั้นตอนการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก


         ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ และถอดเครื่องประดับทุกชิ้นออกจากร่างกาย การตรวจนั้นจะต้องนอนราบบนเตียงตรวจ เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดตำแหน่งร่างกายให้เหมาะสม จึงจะเริ่มการปล่อยรังสี X-ray พลังงานต่ำ ซึ่งใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10-15 นาที โดยตำแหน่งที่ตรวจ คือ บริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และบริเวณข้อมือ เนื่องจากเป็นบริเวณที่พบว่ามีการแตกหักของกระดูกจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย
    ในกรณีที่ผู้รับการตรวจใส่ข้อสะโพกเทียมจะได้รับการตรวจในข้อสะโพกฝั่งตรงข้ามหรือกรณีใส่เหล็กดามกระดูกสันหลังก็จะได้รับการตรวจในกระดูกสันหลังส่วนเอวที่ไม่มีเหล็กอยู่

    ควรเข้ารับการตรวจตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกบ่อยแค่ไหน


         ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยารักษาภาวะกระดูกพรุน ควรเข้ารับการตรวจตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกทุก 1-2 ปี เพื่อติดตามผลการตอบสนองต่อการรักษา

    การป้องกันภาวะกระดูกพรุน

    1. ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
    2. ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง กุ้งฝอย งาดำ ถั่วเหลือง ผักใบเขียว เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า เป็นต้น
    3. ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เนย ไข่แดง ปลาที่มีไขมันสูง ปลาซาร์ดีน น้ำมันตับปลา ธัญพืช เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถได้รับวิตามินดีจากแสงแดดในตอนเช้า 15 – 20 นาทีต่อวันก็เพียงพอต่อร่างกาย
    4. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว การขึ้นลงบันได การวิ่งเหยาะๆ การเล่นเทนนิส การเต้นแอโรบิก เป็นต้น ระยะเวลาการออกกำลังกายอย่างน้อย 20 – 30 นาที สัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง
    5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ
      ตรวจสุขภาพและตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกทุก 1 – 2 ปี

    Scroll to Top