เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri) เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri) เป็นเนื้องอกที่พบมากและบ่อยที่สุดในสตรีวัยเจริญพันธุ์ เกิดจากการแบ่งเซลล์ผิดปกติของกล้ามเนื้อมดลูก พบบ่อยที่อายุประมาณ 40 ปี
เนื้องอกมดลูก แบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
- Subserous myoma : คือเนื้องอกที่โตยื่นออกไปจากตัวมดลูก
- Intramural myoma : คือเนื้องอกที่โตในกล้ามเนื้อมดลูก
- Submucous myoma : คือเนื้องอกที่โตในโพรงมดลูก
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่า เกิดจากกรรมพันธุ์ และปัจจัยด้านฮอร์โนเพศหญิง ดังนั้นสตรีวัยหมดประจำเดือนจึงมีขนาดของเนื้องอกฝ่อลงได้เอง เนื้องอกส่วนใหญ่ไม่ใช่มะเร็ง และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งน้อยมาก < 1% ซึ่งเนื้องอกที่กลายเป็นมะเร็งมักจะโตเร็วผิดปกติ
อาการของเนื้องอกมดลูก
ขึ้นอยู่กับชนิด และ ขนาดของเนื้องอกมดลูก
อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- มีเลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ลักษณะประจำเดือนค่อนข้างตรงรอบเดือน แต่ปริมาณ และจำนวนวันของประจำเดือนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม บางครั้งจะพบว่าเลือดออกมาเป็นก้อนเลือด พบบ่อยในเนื้องอกชนิด Submucous และ Intramural
- คลำพบก้อนในท้อง หรือ รู้สึกว่าท้องโตขึ้น
- อาการปวดหน่วงท้องน้อย บางรายมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย
- อาการที่เกิดจากการกดเบียดของก้อนเนื้องอกต่ออวัยวะใกล้เคียง ขึ้นอยู่ว่าก้อนเนื้องอกโตไปทิศทางใด เช่น ถ้าโตม ด้านหน้า
- ( Anterior ) จะกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยได้ , ถ้าโตมาด้านหลัง ( Posterior ) จะกดเบียดลำไส้ใหญ่ ทำให้มีอาการท้องผูกได้ เป็นต้น พบบ่อยในเนื้องอกชนิด Intramural และ Subserous
- มีบุตรยาก หรือ แท้งบุตรบ่อย เกิดจากเนื้องอกมดลูกที่กดเบียดในโพรงมดลูกซึ่งเป็นบริเวณที่ตัวอ่อนฝังตัว ดังนั้นถ้าตรวจพบเนื้องอกมดลูกชนิด Submucous และชนิด intramural ที่กดเบียดโพรงมดลูก การตัดเนื้องอกออกก่อน จะทำให้โอกาสในการมีบุตรเพิ่มขึ้น
การรักษา
- เนื้องอกขนาดเล็ก และไม่มีอาการ ควรตรวจอัลตราซาวด์ติดตามขนาดของก้อนเป็นระยะ
- การรักษาโดยการใช้ยา คือ การให้ยาชนิดต่างๆเช่นยาฮอร์โมนชนิดกินหรือยาที่ใช้ฉีดเพื่อให้เนื้องอกมดลูกมีขนาดเล็กลง เป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศ (GnRH agonist) การรักษาด้วยยาเหมาะสมกับผู้ที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่ จำเป็นต้องลดขนาดของเนื้องอกลงเพื่อให้ผ่าตัดง่ายขึ้นและเสียเลือดน้อยลง หรือให้ยาในผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติจากเนื้องอกมดลูก แต่อยู่ในช่วงใกล้วัยทองก็จะให้ยาไปจนถึงช่วงวัยทองพอดีอย่างไรก็ตามการให้ยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงคือ อาการวัยทองและภาวะกระดูกพรุนเป็นต้น จึงไม่แนะนำให้ใช้มากกว่า 9 เดือน
การรักษาโดยการผ่าตัด
แบ่งเป็น 2 แบบ คือ การตัดเฉพาะเนื้องอก ( Myomectomy ) และ การตัดมดลูก ( Hysterectomy )
- การตัดเฉพาะเนื้องอกมดลูก ( Myomectomy ) ทำในรายที่อายุน้อยหรือยังมีความต้องการมีบุตร
- การตัดมดลูก ( Hysterectomy ) ทำในรายที่อายุมาก หรือ มีบุตรเพียงพอแล้ว
เนื่องจากเทคโนโลยี และ เทคนิคการผ่าตัดที่พัฒนาต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันการผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกมดลูก ( Myomectomy ) และการผ่าตัดมดลูก ( Hysterectomy ) สามารถกระทำโดยการผ่าตัดผ่านกล้องแทนการผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่ทางหน้าท้องได้เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว โดยสามารถผ่าตัดผ่านกล้องแบบไร้แผล หรือ แบบมีแผลขนาดเล็กทางหน้าท้อง ทั้งนี้ขึ้นกับความชำนาญของแพทย์ และพยาธิสภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ