โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด
เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะเป็นๆหายๆ โดยมีพยาธิสภาพอยู่ที่หูชั้นใน โดยอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน มักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ โรคนี้พบได้ในคนอายุ 30 – 70 ปี (พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก) และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 1.5-2 : 1 และมักพบในคนสูงอายุ (อายุ > 60 ปี) โรคนี้สามารถเกิดในหูทั้งสองข้างได้ประมาณร้อยละ 15 และอาจพบร่วมกับโรคไมเกรนได้
สาเหตุ
ปกติแล้วภายในหูชั้นใน (labyrinth) ของมนุษย์ มีอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว (utricle, saccule, semicircular canal) และการได้ยิน (cochlea) ในอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว utricle มีตะกอนหินปูน (otoconia) ที่รับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะหากตะกอนหินปูนดังกล่าวหลุด ไปอยู่ในอวัยวะควบคุมการทรงตัวอีกชนิดหนึ่งคือ semicircular canal เมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ ตะกอนหินปูนดังกล่าวที่เคลื่อนที่ไปมา (canalithiasis) จะส่งสัญญาณกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุนขึ้นมาได้
โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี คือ อุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ, โรคของหูชั้นใน, การผ่าตัดหูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน, การติดเชื้อ, หลังผ่าตัดใหญ่ที่ต้องนอนนานๆ, การเคลื่อนไหวศีรษะซ้ำๆ เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้องก้มๆเงยๆ หรือทำความสะอาด หรือเช็ดฝุ่นที่ต้องก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคนี้ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี คือ ความเสื่อมของอวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นในตามอายุ อย่างไรก็ตาม ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้ไม่ทราบสาเหตุ
อาการ
ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน รู้สึกโคลงเคลง หรือเสียการทรงตัว เมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะโดยเฉพาะในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว เช่น ล้มตัวลงนอน หรือลุกจากที่นอน ก้มหยิบของ หรือเงยหน้ามองที่สูง ก้มหน้ามองที่ต่ำ เอียงคอ ซึ่งท่าเหล่านี้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเวียนศีรษะไม่นาน มักเป็นวินาที หรือนาที หลังมีการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะอาจจะมีตากระตุก ทำให้มอง หรืออ่านไม่ชัด ขณะมีอาการ แต่ตามักจะกระตุกอยู่นาน 30 วินาทีถึง 1 นาทีเท่านั้น และอาการเวียนศีรษะดังกล่าว จะค่อยๆหายไป แต่เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวศีรษะในท่าเดิมอีก ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้อีก แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรกๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะได้หลายครั้ง เป็นๆหายๆใน 1 วัน และอาจมีอาการเวียนอยู่ได้เป็นวันหรือสัปดาห์ แล้วจะค่อยๆดีขึ้นได้เองในเวลาเป็นวัน หรือสัปดาห์ หรือเดือน หลังจากหายแล้วผู้ป่วยบางรายอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มักไม่มีอาการหูอื้อ หรือ เสียงดังในหูร่วมด้วย ไม่มีแขนขาชา อ่อนแรง หรือ พูดไม่ชัด ไม่มีอาการหมดสติ หรือเป็นลม ยกเว้นจะมีโรคอื่นๆร่วมด้วย บางภาวะ อาจกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นได้ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศ เช่น ฝนตก, หิมะตก, มีพายุ, ลมแรง, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอและความเครียด
การวินิจฉัย
- การซักประวัติ ลักษณะอาการที่เฉพาะได้แก่ อาการเวียนศีรษะ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงท่าทางของศีรษะ และเป็นช่วงสั้นๆ ไม่มีการสูญเสียการได้ยิน หรือหูอื้อ, ไม่มีเสียงดังในหูที่ผิดปกติ
- การตรวจร่างกาย เมื่อให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนอย่างเร็วในท่าตะแคงศีรษะ และห้อยศีรษะลงเล็กน้อย (Dix-Hallpike maneuver) ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะ และมีการกระตุกของลูกตา (nystagmus) ซึ่งเกิดเฉพาะในบางท่าทาง ซึ่งก่อนที่จะมีตากระตุก จะมีระยะเว้นก่อนหน้า (latency of onset) ประมาณ 5-10 วินาที ตากระตุกมักจะมีไม่นาน ประมาณ 5-60 วินาที ถ้าให้ผู้ป่วยจ้องวัตถุหรือจุดใดจุดหนึ่ง ตากระตุกจะไม่ลดน้อยลง ถ้าให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนท่าเดิมซ้ำๆอีก จะทำให้อาการเวียนศีรษะและตากระตุกน้อยลง และหายไปได้ การทดสอบนี้จะทำทั้ง 2 ข้างโดยทำทีละข้าง
- การสืบค้นเพิ่มเติม อาจส่งเพื่อวินิจฉัยแยกจากสาเหตุอื่นๆที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ เช่น
- การตรวจการได้ยิน มักปกติหรือยกเว้นในรายที่มีความผิดปกติอยู่ก่อนแล้ว หรือมีโรคอื่นร่วมด้วย
- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มักทำในรายที่สงสัยว่ามีพยาธิสภาพของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ
การรักษา
- รักษาด้วยยา ได้แก่ ให้ยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ เวลาผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ และผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงจากท่าที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ อาจให้ยาก่อนจะทำกายภาพบำบัดในข้อ 2 เพื่อลดอาการเวียนศีรษะที่อาจจะเกิดขึ้นขณะทำกายภาพบำบัด ทำให้ผู้ป่วยทนต่อการทำกายภาพบำบัดได้ดีขึ้น
- การทำกายภาพบำบัด (physical therapy) เป็นการขยับศีรษะ และคอโดยใช้แรงดึงดูดของโลกเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนที่หลุดออกมา ให้กลับเข้าที่ (canalith repositioning therapy) การเคลื่อนไหว จะเป็นการเคลื่อนไหวแบบง่ายๆ และช้าๆของศีรษะ ในแต่ละท่า หลังจากอาการเวียนศีรษะ หรือการเคลื่อนไหวแบบผิดปกติของลูกตา หยุดหรือหายไปแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยคงอยู่ในท่านั้นอีกประมาณ 30 วินาทีได้แก่ วิธีของ Semont และ Epley (canalith repositioning procedure) ซึ่งแนะนำให้ทำขณะผู้ป่วยมีอาการ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเวียนศีรษะได้เร็วกว่าการไม่ทำกายภาพบำบัด การทำเพียง 1-2 ครั้ง ก็มักจะได้ผล วิธีดังกล่าวนี้ อาจให้แพทย์ทำให้ หรือผู้ป่วยทำเองก็ได้ นอกจากนั้น แพทย์อาจจะแนะนำการบริหาร และฝึกระบบประสาททรงตัว (vestibular rehabilitation) เพื่อให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้นด้วย
- การผ่าตัด มักจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยรักษาด้วยยา และทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผล ยังมีอาการเวียนศีรษะรุนแรง ไม่ดีขึ้น หรือกลับเป็นซ้ำบ่อย การผ่าตัดที่นิยมทำคือ canal plugging surgery คือใช้ชิ้นส่วนของกระดูกอุดอวัยวะควบคุมการทรงตัว semicircular canal ซึ่งจะทำให้ semicircular canal ไม่สามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนตัวของหินปูนได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- ถ้าอาเจียนมาก อาจมีการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ในร่างกายมาก อาจถึงขนาดช็อกได้
- ถ้าเวียนศีรษะมาก อาจล้มไป ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่ออวัยวะต่างๆของร่างกายได้
โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แม้ให้การรักษาจนผู้ป่วยไม่มีอาการเวียนศีรษะแล้ว แต่ผู้ป่วยอาจกลับมามีอาการได้อีก ซึ่งก็สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยาและกายภาพบำบัดประมาณ 1/3 ของผู้ป่วยโรคนี้ จะมีอาการกลับเป็นซ้ำอีกภายในปีแรกหลังให้การรักษา และประมาณ 1/2 ของผู้ป่วยโรคนี้ จะมีอาการกลับเป็นซ้ำอีกภายใน 5 ปี
การปฏิบัติตัวบางอย่างในชีวิตประจำวัน อาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคนี้กำเริบได้ เช่น
- เวลานอน ควรหนุนหมอนสูง (เช่นใช้หมอนนอน 2 ใบ) หรือใช้เตียงนอนปรับระดับให้ศีรษะสูง หลีกเลี่ยงการนอนราบ
- หลีกเลี่ยงการนอนที่เอาหูด้านที่กระตุ้นให้เกิดอาการลง
- ตอนตื่นนอนตอนเช้า ควรลุกขึ้นจากเตียงนอนช้าๆ และนั่งอยู่ตรงขอบเตียงสัก 1 นาที
- หลีกเลี่ยงการก้มเก็บสิ่งของ หรือเงยหยิบสิ่งของที่อยู่สูง
- ระวังเวลาไปทำฟัน และต้องนอนบนเก้าอี้ทำฟัน หรือไปสระผม และต้องนอนบนเตียงสระผม อาจกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนได้
- ไม่ควรออกกำลังกาย ที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะ หรือลำตัวมาก
- เวลาหยอดยาหยอดตา พยายามหยอด โดยไม่เงยศีรษะไปข้างหลัง
- เวลานอน หลีกเลี่ยงการนอนหงาย ในท่าเงยคอ และหันไปทางหูด้านที่จะทำให้เกิดอาการ
- เวลาจะทำอะไร ควรค่อยๆ ทำอย่างช้าๆ
- เมื่อเริ่มเวียนศีรษะ ควรรีบนั่งลง หรือนอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่นพื้น อาจนอนศีรษะสูงเล็กน้อยได้
- ถ้าอาการเวียนศีรษะเกิดขณะขับรถ หรือขณะทำงาน ควรหยุดรถข้างทาง หรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้
- เมื่อตื่นกลางดึก ไม่ควรเดินขณะมืดๆ ควรเปิดไฟให้ความสว่างเต็มที่
- ถ้าผู้ป่วยทรงตัวไม่ค่อยดี มีอัตราเสี่ยงที่จะล้มสูง ควรใช้ไม้เท้าช่วยเดิน
- ไม่ควรว่ายน้ำ, ดำน้ำ, ปีนป่ายที่สูง, เดินบนสะพานไม้แผ่นเดียว หรือเชือกข้ามคูคลอง, ขับรถ, ทำงานในที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ขณะมีอาการเวียนศีรษะ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรืออันตราย