โรคเกาต์
เป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อย มักบวมเจ็บทันทีทันใดและหายใน 2 สัปดาห์ ระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 mg/dl ในผู้ชายและสูงกว่า 6 mg/dl ในผู้หญิง หรือพบก้อนโทฟัส สัมพันธ์กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
วินิจฉัยโดยการตรวจพบผลึกเกาต์ในน้ำไขข้อ ลักษณะเป็นรูปเข็ม ในระยะข้ออักเสบเฉียบพลันจะพบผลึกเกาต์อยู่ในเม็ดเลือดขาว กรณีที่สงสัยว่ามีข้ออักเสบติดเชื้อหรือข้ออักเสบจากผลึกชนิดอื่น ควรตรวจน้ำไขข้อและตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
ข้ออักเสบแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเฉียบพลัน ระยะสงบคือระยะที่ไม่มีข้ออักเสบ และระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส
จุดมุ่งหมายของการรักษา
คือ เพื่อลดการอักเสบเฉียบพลันของข้อ ลดความถี่ของข้ออักเสบ ลดขนาดก้อนโทฟัส และทำให้ก้อนโทฟัสหายไป ลดการทำลายข้อ และป้องกันข้อผิดรูป ป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางไตจากกรดยูริกในเลือดสูง
การรักษาควรใช้ทั้งวิธีไม่ใช้ยาและใช้ยาร่วมกัน ปรับให้เหมาะสมเป็นรายๆ โดยประเมินจาก
- ปัจจัยเสี่ยงของโรค ได้แก่ ระดับกรดยูริกในเลือด ความถี่ในการกำเริบ ความผิดปกติทางภาพเอกซเรย์ข้อและกระดูก
- ระยะของโรค ได้แก่ ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน ระยะสงบ และระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส
- ปัจจัยทั่วไป ได้แก่ อายุ เพศ ความอ้วน การดื่มแอลกอฮอล์ ยาที่มีผลต่อระดับกรดยูริกในเลือด และโรคร่วมอื่นๆ
การรักษาโดยไม่ใช้ยา
คือ พักการใช้ข้อ ยกข้อให้สูง ประคบน้ำแข็ง งดบีบนวดข้อ หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่อข้อ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม รักษาโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยง
- ลดเนื้อสัตว์ที่มีสารพรีน (purine) สูง เช่น อาหารทะเล หอย เนื้อแดง สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ และยีสต์
- ลดผลไม้รสหวาน และเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลฟรุกโตส
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะเบียร์)
- รับประทานนมพร่องมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำ น้ำเต้าหู้ ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงได้
- รักษาโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ความอ้วนสูบบุหรี่ และโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักแบบช้าๆ การลดน้ำหนักเร็วเกินไปอาจทำให้เกิดข้ออักเสบกำเริบได้ ควรออกกำลังกายระดับปานกลาง
- ผู้ป่วยที่มีประวัตินิ่วในทางเดินปัสสาวะ หากไม่มีข้อห้ามควรแนะนำให้ดื่มน้ำวันละมากกว่า 2 ลิตร
การรักษาโดยการใช้ยา
ในระยะข้ออักเสบเฉียบพลันควรเริ่มยาต้านการอักเสบให้เร็วที่สุดโดยใช้ยา colchicine และ/หรือ NSAIDs เป็นลำดับแรกหากไม่มีข้อห้ามสำหรับผู้ที่ได้รับยาลดกรดยูริกในเลือดอยู่แล้ว ควรให้ยาในขนาดเดิมต่อ ไม่ควรหยุดยาหรือเปลี่ยนขนาดยา หรือเริ่มให้ยาลดกรดยูริกในเลือด ในขณะที่ยังมีข้ออักเสบอยู่เพราะทำให้ข้ออักเสบหายช้า
ยาคอลจิซีน (Colchicine) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง 0.6 mg วันละ 2-4 ครั้งผลข้างเคียงที่พบได้คือท้องเสีย
ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Diclofenac, Indomethacin, Ponstan, Piroxicam, Ibuprofen, Naproxen, Celebrex, Arcoxia ให้จนหายข้ออักเสบ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 7 วัน มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารระบบหัวใจและหลอดเลือด หลีกเลี่ยงในผู้ที่มีภาวะหัวใจวายโรคตับและไตทำงานบกพร่อง
ยาเตียรอยด์ (Steroid) ใช้ในรายที่มีข้อห้ามในการใช้ NSAIDs หรือ Colchicines เมื่ออาการดีขึ้นให้รีบลดยาลงโดยเร็ว
ข้อบ่งชี้ของการใช้ยาลดกรดยูริกในเลือด
ได้แก่ ข้ออักเสบกำเริบบ่อยกว่า 2 ครั้งต่อปี ข้ออักเสบเรื้อรัง ปุ่มโทฟัส ภาพเอกซเรย์กระดูกและข้อผิดปกติ มีนิ่วในไต การทำงานไตบกพร่อง และจำเป็นต้องใช้ยาขับปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง
จุดมุ่งหมายในการให้ยาลดกรดยูริกในเลือด
คือ ละลายผลึกเกาต์ออกจากข้อและป้องกันการตกผลึกเกาต์เพิ่มขึ้น เป้าหมายระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 6 mg/dl ถ้ามีก้อนโทฟัส ตั้งเป้าหมายระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 5 mg/dl
การเริ่มให้ยาลดกรดยูริกในเลือดจะทำภายหลังที่ข้ออักเสบหายสนิทแล้วเป็นเวลานาน 1-2 สัปดาห์ ควรเริ่มในขนาดต่ำก่อนแล้วค่อยๆปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นทุก 1-4 สัปดาห์ ตามระดับกรดยูริกในเลือดและผลข้างเคียง
ยายับยั้งการสร้างกรดยูริก เช่น Allopurinol, febuxostat (feburic) โดย Allopurinol ผลข้างเคียงที่พบได้คือผื่น คลื่นไส้ท้องเสีย ปวดศีรษะ ตับอักเสบ และผื่นแพ้ยารุนแรง (Steven-Johnson syndrome, exfoliative dermatitis, toxic epidermal necrolysis)
ยาเร่งการขับกรดยูริกทางไต เช่น Sulfinpyrazone, Probenecid, Benzbromarone ใช้ในผู้ที่แพ้ allopurinol หรือใช้ร่วมกับ allopurinol กรณีที่ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย ยาเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หากไม่มีข้อห้ามควรดื่มน้ำวันละมากกว่า 2 ลิตร
ผู้ที่ได้รับยาลดกรดยูริกในระยะแรกอาจมีข้ออักเสบกำเริบบ่อยขึ้น ควรให้ Colchicine 0.6-1.2 mg ต่อวัน ร่วมกับยาลดกรดยูริกในเลือดเพื่อป้องกันการกำเริบ และควรให้ Colchicine จนไม่มีข้ออักเสบอย่างน้อย 6 เดือน