แชร์
พอเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพร่ำๆ อากาศเย็นมันก็ดีอยู่ แต่ที่ตามมาก็คือ มีแอ่งน้ำขังจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่อาศัยชั้นดี สำหรับวายร้ายหน้าฝน นั่นก็คือ “ยุงลาย” พาหะนำโรคไข้เลือดออกตัวสำคัญ
โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี เชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฝังตัวภายในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุงโดยมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นๆ ต่อ เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกตามมา
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีนั้น แบ่งเป็น 2 ชนิดตามความรุนแรง คือ
ไข้เดงกี
- ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา
- ปวดเมื่อยตามตัว
- ปวดข้อหรือกระดูก
- มีผื่นขึ้นคล้ายผื่นของโรคหัด
- อาจมีภาวะเลือดออกหรือไม่มีก็ได้
ไข้เลือดออก
- มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะ อุจจาระมีเลือดปน
- ปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา
- ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มาแล้วหลายวันผู้ป่วยอาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (Dengue Shock Syndrome) โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้
ระยะของโรคไข้เลือดออก
- ระยะแรก สำหรับระยะแรกนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 5-7 วัน โดยอาจจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรือจุดแดงตามร่างกาย แขน ขา บางรายอาจจะเบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
- ระยะวิกฤต ระยะนี้เป็นระยะที่ต้องระวังมากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการเพลียและซึม ปัสสาวะออกน้อย มีอาการปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณชายโครงขวา รวมถึงมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นสีดำ ในระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง มือเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้
- ระยะฟื้นตัว ในระยะนี้เป็นระยะที่คนไข้เริ่มมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเริ่มกลับมาคงที่ ปัสสาวะออกมากขึ้น เริ่มกลับมามีความอยากอาหารมากขึ้น อาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง และรู้สึกมีเรี่ยวแรงมากขึ้น โดยระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน
ความรุนแรงและการรักษาโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกนั้นสามารถหายเองได้ แต่ก็มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการเข้าสู่ระยะรุนแรง คือหลังมีไข้ 4-5 วัน สังเกตได้จากอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะน้อยลง ไม่ร่าเริง มีเลือดออกตามร่างกาย ซึ่งระยะนี้เป็นระยะที่อันตรายควรพบแพทย์โดยด่วน
การรักษาไข้เลือดออก
การรักษาในปัจจุบันจะรักษาตามอาการเพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก โดยหากรักษาที่บ้านสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- เช็ดตัวเพื่อลดไข้ โดยใช้ผ้าเช็ดตัวชุบน้ำบิดหมาดๆ แล้วเริ่มเช็ดที่ใบหน้า คอ หลังหู จากนั้นจึงค่อยประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับต่าง ๆ
- ดื่มน้ำมากๆ โดยในรายที่อาเจียนแนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่เพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลียและให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ
- ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ แต่ห้ามใช้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือ Ibuprofen
- ติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน ปวดท้องบริเวณชายโครงขวามาก มีเลือดออกรุนแรง ตัวเย็น มือเท้าเย็น ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง หรือ ซึมลงและไม่ค่อยรู้สึกตัว ให้รีบพามาพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันไข้เลือดออก
เนื่องจากยังไม่มียาที่สามารถรักษาอาการไข้เลือดได้โดยตรง เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ตามหลัก 5 ป ดังนี้
- ป้องกันตัวเอง สวมเสื้อผ้ามิดชิด ทายากันยุง หาวัสดุในห้องเพื่อป้องกันยุงกัน
- ปิด ภาชนะที่มีน้ำขังให้มีฝาปิดเสมอ
- เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในกระถางต้นไม้ทุกๆ 7 วัน
- ปรับ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพราะพันธุ์ยุงลาย
- ปฏิบัติ ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
ฤดูฝนอย่าลืมดูแลสุขภาพกันนะครับ เนื่องจากเป็นฤดูที่คนเป็นโรคไข้เลือดออกกันจำนวนมาก โดยไข้เลือดออกนั้นสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่มีวัคซีนป้องกัน วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ทำตามหลัก 5 ป เพื่อสุขภาพที่ดีและห่างจากโรคไข้เลือดออกกันนะครับ