หงุดหงิดจัง ใครทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจเลย อยากกินทุกอย่างไปหมด เศร้าด้วย นอนไม่หลับอีก อาการเหล่านี้มักจะมาก่อนที่คุณผู้หญิง จะเป็นประจำเดือน และทำให้ผู้ชายหลายคนยากที่จะเข้าใจ บ้างก็ว่างี่เง่า ไม่มีเหตุผลเอาซะเลย แต่รู้หรือไม่ว่าไม่มีคุณผู้หญิงท่านไหนอยากที่จะเป็น งั้นมารู้จักอาการเหล่านี้ของคุณผู้หญิงกันดีกว่าครับ
PMS หรือ Premenstrual Syndrome
คือ กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางร่างกายและทางจิตใจในช่วงระยะเวลาก่อนจะมีประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ โดยสาเหตุของอาการนั้นมีปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งอาการ PMS นี้ส่งผลทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจ
สาเหตุของภาวะ PMS
PMS ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศและปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างไข่ตกในแต่ละรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โดยอาการ PMS จะหายไปในช่วงที่ไม่มีการตกไข่ เช่น ขณะตั้งครรภ์หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง เมื่อระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน (serotonin) ลดต่ำลง จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือนได้
อาการสำคัญของ PMS
อาการของ PMS จะแบ่งได้เป็น 2 อาการ คือ อาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม และอาการทางด้านร่างกาย ดังนี้
อาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด หรือโกรธง่าย
- เครียดและไม่มีสมาธิ
- เศร้า วิตกกังวล
- มีความต้องการหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม (social withdrawal)
- นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
อาการทางด้านร่างกาย
- เจ็บเต้านม
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- ปวดศีรษะ
- ปวดท้อง ท้องอืด
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- น้ำหนักตัวเพิ่ม เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- มีสิวขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะ PMS
โดยทั่วไป PMS มักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงและไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการPMSอย่างรุนแรง อาจเกิดอาการ Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD) ได้ ซึ่งจะกระทบต่อสภาวะอารมณ์ เช่น วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง ซึมเศร้า และอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
ปวดท้องประจำเดือน ไม่ใช่ PMS ไม่ต้องทน ทานยาแก้ปวดได้เลย!
อาการปวดท้องประจำเดือน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะ PMS แต่ส่วนมากจะเป็นอาการของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งหากปวดไม่มาก ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อยู่ อาจจะรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ถ้ามีอาการปวดมาก จนทนไม่ได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ บางรายอาจต้องฉีดยาบรรเทาอาการปวดเป็นประจำก็ควรมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการและสาเหตุที่ชัดเจนว่ามาจากการปวดท้องในช่วงมีประจำเดือน หรือปวดท้องจากอาการอื่น ๆ แทรกซ้อน ซึ่งในเบื้องต้นจะให้ยาแก้ปวดหรือยาฮอร์โมนเพื่อกดอาการ
วิธีแก้ PMS ทำยังไงดี?
การรักษามีทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา ในกรณีที่ไม่ใช้ยา จะแนะนำให้เข้ามาปรึกษากับแพทย์ก่อน เพื่อให้เข้าใจตัวเองเพิ่มขึ้น และเข้าใจเกี่ยวกับอาการ PMS รวมถึงการออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ก่อนเบื้องต้น
หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องใช้ยาช่วยรักษา ยารักษาที่ใช้มักเป็นยาเกี่ยวกับสารสื่อประสาท ทางการแพทย์เรียกว่า SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) โดยจะออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินในสมอง ซึ่งจะช่วยให้สารสื่อประสาทสมดุลมากขึ้น หรือยาคุมกำเนิด โดยเฉพาะชนิดที่มี ดรอสไพรีโนน(Drospirenone) ซึ่งจะให้ผลต่ออาการได้ดีกว่าชนิดอื่น ทั้งนี้ ขอแนะนำว่าควรมาพบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาองการรักษาก่อน อาการเหล่านี้จะสามารถหายได้เองหลังประจำเดือนมา แต่ในบางรายอาจแสดงอาการมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากพบอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม บทความนี้อาจช่วยคุณผู้ชายหรือคุณผู้หญิงให้เข้าใจ ภาวะ PMS ที่เกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงมากขึ้นนะครับ