กระจกตาอักเสบติดเชื้อจากเชื้อรา
เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นที่สำคัญของในประเทศแถบเขตร้อนชื้นและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมักทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อที่ค่อนข้างรุนแรง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกระจกตาทะลุได้บ่อย เชื้อราก่อโรคสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- ยีสต์ (yeast) เป็นจุลชีพเซลล์เดียวลักษณะกลมที่สามารถแบ่งตัวด้วยการแตกหน่อ เชื้อราในกลุ่มนี้ ได้แก่ กลุ่ม Candida spp.
- ราสาย (filamentous fungi) เป็นจุลชีพหลายเซลล์ที่สามารถสร้างท่อภายในมีนิวเคลียสและไซโทพลาซึมกระจายอยู่ทั่วไปในลักษณะของเส้นใย ซึ่งเส้นในของราสายยังสามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ประเภท คือ เส้นใยแบบไม่มีผนังกั้น (non-septate hyphae) และเส้นใยแบบมีผนังกั้น (septate hyphae) เส้นใยของเชื้อรา อาจพบได้ทั้งชนิดที่มีสีและไม่มีสี
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่
- สภาพภูมิอากาศเขตร้อนและร้อนชื้น
- การประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม โดยเฉพาะประวัติอุบัติเหตุต่อดวงตาอันเกิดจากพืชสวนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ซึ่งแม้จะเป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยแต่ก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อราที่รุนแรงตามมา
- การใช้ยาหยอดตากลุ่มเสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องยาวนาน
- มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำ เป็นโรคเบาหวาน หรือได้รับยากดภูมิ
อาการและอาการแสดงเฉพาะ
มักมีอาการและการดำเนินของโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีอาการปวดตา ตาแดง สู้แสงไม่ได้ ตามัวและมีขี้ตาลักษณะเป็นน้ำหรือเป็นชนิดเมือกปนหนอง ลักษณะรอยโรคบางประการที่ช่วยบ่งชี้ถึงการติดเชื้อจากเชื้อราได้ ยกตัวอย่างเช่น
- กระจกตาอักเสบติดเชื้อจากเชื้อราสาย (filamentous fungi) รอยโรคมักเป็นสีเทา หรือขาวเหลือง ที่มีขอบปุยคล้ายขนนก และไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน มักพบลักษณะของรอยโรคเล็กๆ ที่กระจายอยู่รอบๆรอยโรคหลัก หากรอยโรคลุกลามมักลุกลามลงในชั้นลึกของกระจกตา เกิดเป็นแผ่นขาวที่กระจกตาชั้นในสุด
- กระจกตาอักเสบติดเชื้อจากรายีสต์ รอยโรคมักเป็นสีเหลืองขาว เป็นหนอง ซึ่งมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับรอยโรคของกระจกตาอักเสบติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก
แนวทางการรักษา
แนวทางการรักษาและการรักษาโดยทั่วไป ทั้งเรื่องของการให้ยา การพิจารณาให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล การรักษาด้วยการผ่าตัด และแนวทางการติดตามการรักษา จะพิจารณาไปในแนวทางเดียวกับการรักษาภาวะกระจกตาอักเสบติดเชื้อจากแบคทีเรีย เพียงแต่การตอบสนองต่อการรักษาจะเป็นไปอย่างช้าๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรีย
- การรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา โดยทั่วไปจะพิจารณาให้ยาต้านเชื้อราชนิดหยอด (topical antifungal) ทันทีหลังจากขูดกระจกตา เพื่อทำการเพาะเชื้อเรียบร้อยแล้ว โดยการให้หยอดยาบ่อยๆ ทุก1 ชั่วโมง ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนนานอย่างน้อย 48 ชั่วโมง แล้วจึงพิจารณาลดความถี่ของการหยอดยาลงตามลักษณะอาการและอาการแสดงที่ตอบสนอง แต่เนื่องจากยาต้านเชื้อราส่วนมากมักมีฤทธิ์เพียงการยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา จึงจำเป็นต้องให้การรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ชนิดของยาต้านเชื้อราที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ นอกจากนี้ อาจพิจารณาให้ยาต้านเชื้อราในรูปแบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การให้ยากิน การใช้ยาต้านเชื้อราฉีดเข้าใต้เยื่อบุตาขาว ฉีดเข้าโดยตรงบริเวณแผลที่กระจกตา ฉีดเข้าในช่องหน้าลูกตาหรือฉีดทางหลอดเลือด ในกรณีที่รอยโรครุนแรงถึงชั้นลึก หรือรอยโรคลุกลามจนถึงเนื้อเยื่อตาขาว
- การรักษาอื่นๆ นอกเหนือจากการให้ยาต้านเชื้อราในผู้ป่วยกระจกตาอักเสบติดเชื้อรา เช่น การขูดผิวกระจกตาบริเวณที่มีการติดเชื้อจะช่วยเสริมการแทรกซึมของยาต้านเชื้อราให้เข้าสู่เนื้อกระจกตาได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการกำจัดเนื้อตายออกไป ทั้งนี้อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องให้ยาเสริมชนิดอื่นๆ เช่นเดียวกับการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ยาขยายม่านตา ยาแก้ปวด ยาน้ำตาเทียมหรือยาที่ช่วยเร่งการสมานแผลและยับยั้งการเปื่อยสลายของแผลได้