ลูกน้อยฟันน้ำนมผุ ทำยังไงดี

ลูกน้อยฟันน้ำนมผุ ทำยังไงดี

ลูกน้อยฟันน้ำนมผุ ทำยังไงดี

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฟันน้ำนมผุ คือ การปล่อยให้เด็กนอนหลับคาขวดนม ทำให้น้ำตาลที่อยู่ในนม ทั้งนมแม่และนมวัวทำให้ฟันผุได้เนื่องจากแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์จะใช้น้ำตาลในนมที่ค้างอยู่บนผิวฟันเกิดเป็นกรดสะสม ละลายผิวฟันเป็นรู นอกจากเรื่องขวดนมแล้ว ปัญหาฟันน้ำนมผุ ยังอาจเกิดได้จากโครงสร้างของฟันเด็กที่ไม่สมบูรณ์ อาจเป็นเพราะคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย รวมทั้งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กยุคนี้ฟันผุง่ายก็คือ การรับประทานขนมตามใจชอบ แล้วไม่ยอมแปรงฟันนั่นเอง อีกทั้งผู้ปกครองหลายคนมักมีความเชื่อผิดๆ ว่า เดี๋ยวฟันน้ำนมก็ต้องหลุดไป มีฟันแท้มาแทนที่ จึงไม่ได้ใส่ใจการรับประทานขนมและการแปรงฟันของลูกมากนัก และลูกก็ยังไม่สามารถทำความสะอาดฟันอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้ฟันผุได้ง่ายนั่นเอง

รู้จัก 3 ระยะ ของโรคฟันผุ
  1. ฟันผุในระยะแรก จะพบลักษณะรอยโรคขุ่นขาวบริเวณเคลือบฟันหรือหลุมร่องฟัน ซึ่งจะยังไม่แสดงอาการ
  2. ฟันผุที่ชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน จะมีการแตกหักของเนื้อฟันจนเกิดรอยผุเป็นรูบนตัวฟัน เด็กจะเริ่มมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน เวลาเศษอาหารติด
  3. ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน มักจะมีอาการปวดฟัน ประสาทฟันอักเสบร่วมกับการอักเสบของเหงือกและอวัยวะรอบๆ ฟัน หรือเด็กบางคนอาจไม่เคยมีอาการปวดฟันเลย
ฟันน้ำนมผุได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่

ปัญหาฟันน้ำนมผุหรือฟันผุในวัยเด็ก สามารถเกิดได้ตั้งแต่เด็กมีฟันขึ้นในช่องปาก ซึ่งก็คืออายุประมาณ 6 เดือน เนื่องจากชั้นเคลือบฟันน้ำนมหนาประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้เท่านั้น ทำให้ฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่ามาก และยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เป็นองค์ประกอบน้อยกว่า โดยฟันน้ำนมซี่หน้าบนจะผุได้ง่ายกว่าฟันหน้าล่าง รวมทั้งอีกจุดที่ผุง่ายก็คือ ฟันกรามด้านบดเคี้ยว เพราะเป็นซี่ใน ขนมหวานมักติดค้างอยู่ในร่องฟัน จึงทำความสะอาดได้ยากนั่นเอง

การรักษาฟันน้ำนมผุ

หากลูกมีฟันผุระยะแรกเริ่ม คุณหมอจะให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารและการทำความสะอาดหรือเคลือบหลุมร่องฟัน คุณหมอจะทำการอุดฟันหรือครอบฟันในฟันที่ผุถึงชั้นเนื้อฟัน แต่หากฟันผุทะลุเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน คุณหมอจะต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน หรือถอนฟันแทน สำหรับกรณีที่ฟันผุยังไม่ได้ทำลายรากฟันและกระดูกเบ้าฟันไปมาก คุณหมอจะแนะนำให้เก็บรักษาฟันน้ำนมไว้ใช้งาน รอจนฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่ การอุดฟันที่ผุลึกมาก การถอนฟัน หรือการรักษารากฟัน คุณหมอจะใช้ยาชา เพื่อไม่ให้เด็กๆ รู้สึกเจ็บปวดหรือมีอาการเสียวฟันระหว่างการรักษา

วิธีป้องกันไม่ให้ฟันน้ำนมผุ
  • ฝึกให้เด็กทารกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม , สำหรับเด็กเล็กแนะนำทำความสะอาดช่องปากหลังทานนม
  • สอนให้เด็กใช้แก้วน้ำแทนขวดนมและฝึกดูดจากหลอด ตั้งแต่อายุ 6 – 12 เดือน และควรเลิกใช้ขวดนม เมื่ออายุ 1 ปี ไปแล้ว และงดตื่นมาทานนมมื้อดึก
  • ฝึกนิสัยไม่ให้ลูกทานขนมจุบจิบ อาหารรสหวาน เพราะเป็นสาเหตุของฟันผุ หากลูกอยากรับประทานให้รับประทานในมื้ออาหาร
  • เลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ไม่เติมน้ำตาลและไม่ทำให้ฟันผุ เช่น นมจืด ผลไม้ แซนวิสทูน่า ปลาเส้น เป็นต้น
  • ให้ลูกบ้วนปากหลังดื่มนม หลังรับประทานขนม หรือหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • แปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ 1000-1500 ppm วันละ 2 ครั้ง เวลาเช้า – ก่อนนอน
  • เมื่อลูกอายุ 4 ขวบ ฝึกให้ลูกแปรงฟันอย่างถูกวิธี และช่วยแปรงซ้ำเป็นประจำและให้เด็กแปรงฟันด้วยตนเองเมื่อเด็กมีอายุอย่างน้อย 8 ขวบขึ้นไปซึ่งกล้ามเนื้อมัดเล็กสามารถทำงานได้ดีแล้ว
  • พาลูกไปพบทันตแพทย์ภายใน 6 เดือน เมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น หรือภายใน 1 ขวบ เพื่อรับการตรวจฟันและคำแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปากจากทันตแพทย์ และตรวจฟันเป็นประจำทุก 3-6 เดือน ตามความเสี่ยงของการเกิดโรค ฟันผุ ซึ่งทันตแพทย์จะคอยประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ
Scroll to Top