อย่าชะล่าใจเพราะ “ร้อนใน” อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก

“จุดเริ่มต้นของโรคมะเร็งในช่องปากก็เกิดขึ้นจากแผลในช่องปาก’ เล็กๆ ที่มักถูกมองข้ามด้วยเหตุนี้ ร้อนในจึงอาจไม่ใช่เรื่องเล็กที่ควรมองข้าม”

คนที่เคยเป็นอาการร้อนในมาแล้วจะรู้เป็นอย่างดีว่าต้องเกี่ยวกับช่องปากของเรา อาการนี้เป็นอาการที่พบแผลเปื่อยในช่องปาก อาจจะเป็นกระพุ้งแก้ม ลิ้น สรุปโดยร่วมๆคือ จะเป็นอาการที่เกิดส่วนใดส่วนหนึ่งภายในปากของเรา ส่วนใหญ่จะเป็แผลขนาดเล็ก จะมีอาการแสบเวลารับประทานอาหาร นอกจากเจ้าแผลเล็กๆ ในปากที่จะสร้างความรำคาญใจ และเป็นอุปสรรคในการับประทานอาหาร ยังอาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ที่คาดไม่ถึงอีกด้วย  ยิ่งไปกว่านั้นมะเร็งในช่องปากยังเป็น 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

 สาเหตุของแผลร้อนใน

  1. ฟันมีปัญหา ไม่ว่าจะฟันหัก ฟันบิ่น หรือฟันแตกก็อาจทำให้บริเวณของฟันที่แตกหักขูดกับเหงือก เนื้อเยื่อกระพุ้งแก้มซึ่งเมื่อการเสียดสีดังกล่าวเกิดขึ้นประจำซ้ำๆที่จุดเดิมก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองจนเป็นแผลได้
  2. กินของร้อน เกิดลวกปากจนกลายเป็นแผลได้
  3. การกินของทอด นอกจากจะมีโอกาสเกิดแผลในปากจากการกินที่ไม่ระวังจนทำให้อาหารไปขูดกับเนื้อเยื่อในปากแล้ว อาหารมันๆ จะกระตุ้นการอักเสบในช่องปากได้ เช่นเดียวกับของหวานก็ทำให้เกิดการอักเสบและเพิ่มเชื้อแบคทีเรียในช่องปากให้มากขึ้นได้หลายเท่าด้วย
  4. ติดเชื้อในช่องปาก สามารถเกิดได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส หรือเชื้อรา ทำให้มีแผลกว้างและลึก มีน้ำเหลืองหรือหนองออกมาด้วย และอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองข้างคอโตด้วย

แยกยังไงว่าอันไหนแผลร้อนใน อันไหนมะเร็ง

วิธีที่สังเกตแบบง่ายๆ เลยคือ แผลร้อนในสามารถหายได้เอง หรือมีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ซึ่งอย่างช้าคือไม่เกิน 2 อาทิตย์ แผลจะค่อยๆ มีอาการระคายเคือง หรือเจ็บแสบน้อยลง จนเนื้อค่อยๆ ประสานกัน และแห้งไปได้ในที่สุด โดยหากว่ามีการใช้ยาช่วยก็จะยิ่งหายได้เร็วขึ้น ส่วนแผลที่เกิดจากจากมะเร็งช่องปาก จะเป็นแผลสดตลอดเวลา และบางครั้งอาจมีเลือดออกมาด้วย ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ก็ยังไม่ดีขึ้น

อาการนี้ชี้ว่าอาจเป็นมะเร็ง

นอกจากแผลในปากที่ไม่หายสักที หากสังเกตพบว่ามีฝ้าสีขาว หรือแดงในเยื่อบุช่องปาก กระพุ้งแก้ม หรือลิ้น มีตุ่มหรือก้อนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีอาการเจ็บ เช่นเดียวกับมีก้อนบริเวณลำคอ ฟันโยกหรือฟันหลุด ไม่สามารถเคี้ยวและกลืนอาหารได้เป็นปกติ หรือมีเลือดออกในช่องปากโดยไม่รู้สาเหตุ นั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเพิ่มเติม

แนวทางการรักษาร้อนในเองเบื้องต้น

  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 – 10 แก้วต่อวัน
  • กินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบีและซี รวมถึงอาหารที่มีฤทธิเย็นอย่าง มะระ สะเดา น้ำใบบัวบก น้ำข้าวกล้องงอก หรือ น้ำเก๊กฮวย เป็นต้น
  • ดูแลสุขภาพในช่องปาก โดยใช้น้ำเกลือบ้วนปาก 2 – 3 ครั้งต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงหรือระวังการกินของทอดและอาหารที่มีลักษณะแข็ง ซึ่งสามารถทิ่มแทงเยื้อบุช่องปากทำให้เกิดอาการอักเสบได้
  • ไม่กินอาหารเผ็ดร้อน เพราะอาจทำให้แผลในช่องปากอักเสบเพิ่มขึ้น และหายช้าลง
  • ถ้ามีอาการปวดให้อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ หรือดื่มน้ำเย็น จะช่วยบรรเทาได้
  • เมื่อมีแผลร้อนใน อย่าปล่อยให้เรื้อรัง แต่ควรทายาให้แผลหายเร็วขึ้น
Scroll to Top