โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever)

สาเหตุของโรค

โรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4  มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฝังตัวภายในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุงโดยมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นๆต่อ เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ทำให้เกิดการรั่วของสารน้ำออกนอกเส้นเลือดและเกร็ดเลือดต่ำ ส่งผลให้อ่อนเพลีย เลือดออกง่าย ในรายที่รุนแรงอาจเข้าสู่ภาวะช็อค เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เคยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใดจะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้น หากได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ ที่ต่างออกไปจากครั้งแรกก็สามารถเป็นไข้เลือดออกได้อีก โดยทั่วไปอาการของโรคครั้งที่สองมักรุนแรงกว่าครั้งแรก

การติดต่อ

โรคไข้เลือดออกติดต่อจากคนสู่คน โดยมียุงลาย (Aedes aegypti) เป็นพาหะที่สำคัญ ยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ภายในบ้านและบริเวณบ้าน มักจะกัดเวลากลางวัน แหล่งเพาะพันธุ์ คือ น้ำใสที่ขังอยู่ตามภาชนะเก็บน้ำต่างๆ เช่น โอ่งน้ำ  แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ จาน ชาม กระป๋อง หม้อ กระถาง ยางรถ เป็นต้น

อาการ

  1. ระยะไข้(2-7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา  เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา อ่อนเพลีย เนื่องจากมีการรั่วของสารน้ำออกนอกเส้นเลือด
  2. ระยะช็อคระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรงและเข้าสู่ภาวะช็อคทุกราย
  3. ระยะฟื้นตัวอาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว ผื่นระยะพักฟื้นจะเป็นผื่นสีแดง ร่วมกับสีขาว (Convalescent rash) มีอาการคัน ซึ่งจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์

การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก

เนื่องจากอาการของโรคไข้เลือดออกในระยะแรกๆ คล้ายกับโรคติดเชื้อหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ และไข้จากสาเหตุอื่น ดังนั้น นอกเหนือจากการสังเกตอาการและซักประวัติความเป็นอยู่ของผู้ป่วยแล้วแพทย์จะวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกด้วยการตรวจเพิ่มเติม  ดังนี้

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบทั้งหมดของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และความเข้มข้นของเลือด 
  • ตรวจภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออก (IgM) ,  ตรวจ NS1 Ag ต่อเชื้อโดยตรง ตรวจ PCR เพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี

หากพบว่าผู้ป่วยมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว และจำนวนเกล็ดเลือดลดต่ำลง เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกี แต่ถ้าเกล็ดเลือดลดต่ำมาก เม็ดเลือดขาวต่ำ  เม็ดเลือดแดงเข้มข้นขึ้น ความดันโลหิตต่ำ ร่วมกับมีชีพจรเบาเร็ว เป็นตัว บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่ระยะช็อกซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องดูแลผู้ป่วยหนักทันที

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อประคับประคองให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในรายที่อาการไม่รุนแรง โรคไข้เลือดออกอาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน สำหรับการดูแลอาการเบื้องต้น ผู้ป่วยควรดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะๆ รับประทานอาหารอ่อน งดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีคล้ายเลือดเพื่อไม่ให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อน อาจรับประทานยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซทตามอลได้แต่ในปริมาณที่แพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามรับประทานยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAID เด็ดขาดเพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายมากขึ้น  หากพบว่าผู้ป่วยอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็นผิดปกติ ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การป้องกัน

1.ป้องกันไม่ให้ยุงกัด

  • การนอน ควรนอนในมุ้ง หรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลาย สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด
  • การเล่น ไม่ควรเล่นในมุมมืดหรือบริเวณที่ไม่มีลมพัดผ่าน
  • ห้องเรียนหรือห้องทำงาน ควรมีแสงสว่างส่องได้ทั่วถึง มีลมพัดผ่านได้สะดวก และไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

2.การกำจัดยุง

กำจัดลูกน้ำปิดฝาภาชนะใส่น้ำภายในบ้านให้มิดชิด ไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ ถ้าไม่สามารถปิดได้ ให้ใส่ ทรายอะเบทหรือปลาหางนกยูง ถ้าเป็นจานรองขาตู้กับข้าวให้ใส่เกลือ น้ำส้มสายชู หรือผงซักฟอก  รวมถึง ปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดปราศจากเศษวัสดุที่อาจมีน้ำขังได้ เช่น ขวดเก่า กระป๋องเก่า เป็นต้น ใส่ทราย เพื่อดูดซึมน้ำส่วนเกิน ใส่ทรายลงในจานรองกระถางต้นไม้ หรือแอ่งน้ำ การพ่นสารเคมีในบริเวณที่มีมุมอับ เช่น ตู้เสื้อผ้าและบริเวณรอบบ้านทุกสัปดาห์

3.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยการเผาหรือทำลาย

วัสดุที่เหลือใช้รอบๆบ้าน เช่น กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ให้เผาหรือทำลายทิ้ง

 

Scroll to Top