กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)

 เป็นภาวะที่มีอันตราย และควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ภาวะนี้เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนไม่ได้ ซึ่งมักเกิดจากมีการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery) จากคราบไขมัน (plaque) และลิ่มเลือด (thrombus) จนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวขาดเลือด ขาดออกซิเจน และทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตายอย่างถาวร หากไม่ได้รับการเปิดหลอดเลือดในเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงที่นำไปสู่การเสียชีวิตกระทันหัน (sudden death) ได้

เมื่อมีอาการที่สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือผู้ใกล้ชิดที่มีอาการ ควรรีบไปโรงพยาบาล      หรือเรียกหน่วยพยาบาลฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเวลาคือสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการเสียชีวิตและการเกิด    ความเสียหายต่อหัวใจอย่างถาวรได้

อาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

  • เจ็บแน่นหน้าอก อาจมีอาการแน่นเล็กน้อย รู้สึกเหมือนมีอะไรมาทับ หรืออาการรุนแรงจนทนไม่ไหวได้      โดยมักมีอาการบริเวณกลางหน้าอกหรือด้านซ้าย และอาจจะมีอาการเจ็บร้าวไปบริเวณแขนข้างใดข้างหนึ่ง ไหล่ คอ กราม หรือหลังได้
  • หายใจไม่สะดวก เหนื่อยหอบ หรืออ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ ปวดจุกบริเวณลิ้นปี่ ทำให้ในบางครั้งผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็น โรคกระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อนได้
  • อาจมีอาการใจสั่น เหงื่อออก ร่วมด้วยได้
  • หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือวูบเป็นลม

สาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

1.สาเหตุหลักเกิดจากการที่มีการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลดอย่างมาก โดยในหลอดเลือดหัวใจเกิดการสะสมของคราบไขมันที่ผนัง (Plaque)               ทำให้ทางเดินของเลือดตีบเล็กลง และในบางครั้งคราบไขมันที่สะสมเกิดการปริหรือแตก กระตุ้นให้เกิดการสะสมของ     ลิ่มเลือดในผนังหลอดเลือดจนอุดกั้นทางเดินของเลือดไปที่ปลายทาง ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือหัวใจวาย (heart attack)

2.สาเหตุอื่นๆซึ่งพบได้น้อย จะเป็นความผิดปกติของตัวหลอดเลือดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอุดตันในหลอดเลือด เช่น ผนังหลอดเลือดหดตัว (coronary spasm) ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเจ็บป่วยอื่นในร่างกาย (stress-induced cardiomyopathy) เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

  • อายุและเพศ: เพศชายที่อายุเกิน 40 ปี และเพศหญิงที่อายุเกิน 50 ปีหรือวัยหมดประจำเดือน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • โรคอ้วน
  • ความเครียด
  • ประวัติโรคหัวใจในครอบครัว โดยเฉพาะตั้งแต่อายุน้อยกว่า 55 ปีในผู้ชาย และ 65 ปีในผู้หญิง
  • ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย

การวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายรวมถึงสัญญาณชีพต่างๆ และจะทำการตรวจเพิ่มเติมเมื่อสงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยเฉพาะการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งจะทำเป็นอันดับแรก

  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram: ECG หรือ EKG) ซึ่งจะเป็นการตรวจที่สำคัญที่สุด และช่วยบ่งบอกถึงความเร่งด่วนฉุกเฉินในการพาผู้ป่วยไปเข้ารับการเปิดหลอดเลือดหัวใจ
  • ตรวจเลือด โดยการตรวจค่าเอ็นไซม์กล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac enzyme) ที่เรียกว่า troponin ซึ่งจะเป็นสารที่ถูกปล่อยออกมาจากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่มีการขาดเลือด
  • คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiogram) เป็นการทำอัลตราซาวน์บริเวณหน้าอก เพื่อบอกการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และภาวะแทรกซ้อนจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • การฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiogram หรือ CAG) ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่ชัดเจนที่สุด จะเป็นการสอดท่ออุปกรณ์ผ่านแผลขนาดเล็กบริเวณข้อมือหรือขาหนีบ เพื่อฉีดสารทึบรังสีดูหลอดเลือดหัวใจโดยตรง หากเห็นจุดตีบหรืออุดตัน ก็จะสามารถให้การแก้ไขเปิดหลอดเลือดต่อไปได้

การรักษา

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ประกอบไปด้วย

  • การให้ยาที่เกี่ยวข้อง คือยาต้านเกร็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือดในบางราย ยาลดไขมัน และยาสำหรับโรค ประจำตัวของผู้ป่วย
  • การเปิดหลอดเลือดหัวใจ ที่มีการตีบหรืออุดตัน สามารถทำได้ 2 วิธีหลัก ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะประเมินวิธีที่ เหมาะสมจากผู้ป่วยและความรุนแรงของภาวะหลอดเลือดหัวใจ คือ
    • การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด (Percutaneous coronary intervention หรือ PCI)
    • การผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาส (coronary artery bypass graft หรือ CABG)

การป้องกัน

การป้องกัน คือการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่เรามีอยู่ และจะได้รับการรักษาควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

  • ควบคุมระดับไขมัน โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  • ควบคุมความดันโลหิต และน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ไม่สูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงภาวะเครียด

นอกจากนี้ การที่เมื่อเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันขึ้นมาแล้วได้รับการตรวจวินิจฉัยและได้รับ     การรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว จะทำให้ผลการรักษาออกมาดี ลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมทั้งการเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจแบบถาวรอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อมีอาการที่สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือผู้ใกล้ชิดที่มีอาการ ควรรีบไปโรงพยาบาลหรือเรียกหน่วยพยาบาลฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด

Scroll to Top