โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและความพิการ ในประเทศไทย เนื่องจากสมองมีระบบการทำงานที่ซับซ้อน ความเสียหายที่เกิดขึ้นแม้เป็นเพียงบริเวณเล็กๆของสมอง ก็สามารถทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้แล้ว โรคหลอดเลือดสมองทำให้เกิดความเสียหายกับเนื้อสมองได้ 2 รูปแบบ คือ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ทำให้เกิดเนื้อสมองขาดเลือดไปเลี้ยงและเกิดเนื้อสมองตายในที่สุด และโรคหลอดเลือดสมองแตกทำให้เกิดเลือดออก และไปกดเบียดทำลายเนื้อสมอง

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง

ความดันโลหิตสูงเรื้อรังเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคหลอดเลือดสมองแตกการความคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่แพทย์แนะนำอยู่เสมอ เป็นหนทางหนึ่งในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง   ในอนาคตได้ นอกจากนี้โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ยังมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจบางชนิด การสูบบุหรี่หรือสารเสพติดอื่นๆ ในผู้ป่วยบางรายโรคหลอดเลือดสมองอาจเกิดได้จากสาเหตุที่พบได้น้อย เช่น ภาวะหลอดเลือดผิดปกติในสมอง หลอดเลือดสมองฉีกขาดจากอุบัติเหตุ ภาวะเลือดแข็งตัวง่ายหรือเลือดออกง่าย เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

ผู้ที่มีอาการทางสมองที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน มีโอกาสจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงมาก การขาดเลือดมาเลี้ยงเนื้อสมองหรือมีเลือดออกในสมองบริเวณต่างๆจะก่อให้เกิดอาการทางสมองที่แตกต่างกัน อาการที่พบได้บ่อย คืออาการเดินเซ อาการตามองไม่เห็นด้านใดด้านหนึ่ง    อาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อาการอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก หรือมีการใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษเพื่อให้จำได้ง่ายคือ BEFAST (B = balance, E = eye, F = face, A = arm , S = speech และ T = time (อาการที่เกิดขึ้นเร็ว ควรจะรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด)การรักษา

เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจยืนยันว่าอาการนั้นเกิดจากเนื้อสมองขาดเลือดแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวกำหนดเป้าหมายรวมถึงผลของการรักษาคือระยะเวลานับตั้งแต่เกิดอาการจนถึงเวลาที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล หากมาโรงพยาบาลได้ภายในเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ การรักษาจะมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขหลอดเลือดที่อุดตัน ให้มีเลือดกลับเข้าไป (reperfusion) เพื่อรักษาเนื้อสมองที่ยังไม่เกิดความเสียหายถาวรให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น         การให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic drug) หรือการเปิดหลอดเลือดด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือด (mechanical thrombectomy) แต่หากผู้ป่วยมาหลังจาก 4-6 ชั่วโมงไปแล้ว เป้าหมายการรักษามักจะเป็นไปเพื่อการประคับประคอง ป้องกันไม่ให้มีบริเวณเนื้อสมองขาดเลือดมากขึ้น และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาภาวะนี้ เริ่มต้นที่การตระหนักว่าอาการทางสมองที่เกิดขึ้นเร็วมักมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง ควรจะมาโรงพยาบาล ให้เร็วที่สุด หากแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดสมองแตก และมีก้อนเลือดออกในสมอง แนวทางการรักษา จะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนเลือด หากก้อนเลือดมีขนาดใหญ่ และมีการกดเบียดโครงสร้างสำคัญในสมอง อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรของก้อนเลือด หากก้อนเลือดมีขนาดเล็ก โดยมากมักให้การรักษาด้วยการควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม ประคับประคองไม่ให้ก้อนเลือดมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อเลือดที่ออกหยุดสนิทแล้ว จะค่อยๆสลายไปได้เองในเวลา 2-3 สัปดาห์ ส่วนในผู้ป่วยที่ยังมีความพิการที่เกิดจากเนื้อสมองที่ได้รับความเสียหาย ควรได้รับการทำบำบัดฟื้นฟูโดยผู้เชี่ยวชาญต่ออีก 3-6 เดือน

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

การควบคุมปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด     ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมักจะเพียงพอในการป้องกันโรคสำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่เคยเกิดอาการของโรคหลอดเลือดสมอง   มาก่อน ส่วนในผู้ป่วยที่เกิดอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบตันแล้ว ควรรับประทานยาต้านเกร็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดระยะยาวร่วมไปกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้วย

Scroll to Top