บริการทางการแพทย์
ศูนย์หัวใจ
G Floor, open everyday
7:00-19:00 Tel. 02-129-5555
เพราะหัวใจของคนเราทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีหยุดพัก ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลปิยะเวท จึงเปิดให้บริการฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เช่นกัน เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคหัวใจในทุกสถานการณ์ พร้อมที่จะดูแลหัวใจของคุณอย่างเข้าใจและใส่ใจ ด้วยเทคนิควิธีการรักษาจากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจทุกสาขา รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย จึงช่วยลดเวลาทั้งในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยลง แต่ยังคงผลลัพธ์ทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น คลินิกหัวใจยังเล็งเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจหลังการบำบัดรักษา โดยมุ่งมั่นให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีและหัวใจที่แข็งแรงอยู่นานเท่านาน
การตรวจรักษาของศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลปิยะเวท ประกอบด้วยคณะแพทย์โรคหัวใจทุกสาขาความเชี่ยวชาญ ที่ล้วนผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ อายุรแพทย์หัวใจ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก รังสีแพทย์หัวใจ กุมารแพทย์หัวใจ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ และวิสัญญีแพทย์หัวใจ โดยร่วมทำงานแบบประสานกัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างแท้จริง รวมทั้งทีมงานที่มีประสบการณ์สูง สามารถปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์ได้เป็นอย่างดี เช่น พยาบาลหัวใจ ช่างเทคนิครังสี นักกายภาพบำบัด โภชนากร และพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมมาเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะ
การให้บริการของศูนย์หัวใจ
- การตรวจวินิจฉัยทางหัวใจ
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง
- การตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง
- การตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- การตรวจสวนหัวใจ
- การผ่าตัดหัวใจ
- การผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดต่างๆ
- การรักษาโรคลิ้นเลือดหัวใจตีบ
- การรักษาโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
- การทดสอบสาเหตุของการเป็นลมหมดสติด้วยเครื่องปรับระดับ
- การเตรียมพร้อมด้วยรถอภิบาลผู้ป่วยหัวใจสมบูรณ์แบบ (Perfect Heart Ambulance) เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจฉุกเฉิน
นอกจากนี้ โรงพยาบาลปิยะเวทยังจัดให้มี ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ (Perfect Heart Rehabilitation and Fitness Center) ซึ่งมีโปรแกรมต่างๆ สำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ โดยปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อบรรเทาอาการทางโรคหัวใจลง ช่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดซ้ำอีก รวมถึงมีห้องออกกำลังกายที่กว้างขวาง พร้อมด้วยอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ทันสมัย โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วยทุกคน
หัตถการ / เทคนิคการรักษา
การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน 3 มิติและ 4 มิติ (Echocardiography)
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging, MRI) ร่วมกับการออกกำลังกาย หรือการให้ยา
- การตรวจหลอดเลือดหัวใจและการทำงานของหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ความเร็วสูง (Multi-detector CT scanner) โดยไม่ต้องสวนหัวใจโดยตรง
- การตรวจหาความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ (Holter monitoring)
- การตรวจสวนหัวใจและฉีดสี (Cardiac Catheterization and Angiogram)
- การตรวจหาความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
- การตรวจหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก (Chest pain center) ด้วยการเลือกใช้เครื่องมือที่ทันสมัยให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ได้ผลการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำมากที่สุด
- การตรวจและวินิจฉัยผู้ป่วยเป็นลมหมดสติด้วยเครื่องปรับระดับ (Tilt Table Test)
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน 3 มิติและ 4 มิติ (Echocardiography)
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) หรือ ECHO คือการส่งคลื่นเสียงที่ปลอดภัยเข้าไปยังบริเวณทรวงอก แล้วใช้การสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อนำข้อมูลที่สะท้อนกลับมานั้นไปแปลเป็นภาพให้เห็นบนจอ ซึ่งจะแสดงถึงรูปร่าง ขนาด การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจ ปัจจุบันทางโรงพยาบาลใช้เทคโนโลยีใหม่ สามารถตรวจให้ภาพเป็น 3 มิติ คือภาพมีความลึก รวมถึงการตรวจให้ภาพเป็น 4 มิติ คือเป็นภาพที่มีการเคลื่อนไหวได้ด้วย
ประโยชน์ของการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหอบ เหนื่อย บวม ซึ่งสงสัยว่าอาจเกิดจากโรคหัวใจ การตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ชัดเจนขึ้น โดยจะตรวจร่วมกับวิธีอื่นๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ การสวนหลอดเลือดหัวใจ ผลที่ได้มักจะพบว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ และตำแหน่งหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้าและออกจากหัวใจ เป็นต้น
การเตรียมตัวเข้ารับการตรวจ ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร แต่ในกรณีที่มียารับประทาน จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบล่วงหน้า เนื่องจากอาจมีผลต่อผลการตรวจและการทำงานของหัวใจ ในวันตรวจควรมาถึงก่อนเวลาเล็กน้อย เพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้า สำหรับผู้หญิงต้องถอดเสื้อชั้นในออกก่อน โดยเจ้าหน้าที่จะติดอุปกรณ์เพื่อเฝ้าสังเกตคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจวิธีนี้เป็นการตรวจเฉพาะทางที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ โดยใช้ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 30 – 45 นาที
การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging : MRI) เป็นการตรวจหัวใจและหลอดเลือดวิธีใหม่อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ภาพของหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน โดยผู้ป่วยไม่ต้องได้รับรังสีเอ็กซ์ และสารทึบรังสีเหมือนกับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สามารถสร้างภาพได้ทั้งแนวขวาง แนวยาว แนวเฉียง โดยผู้ป่วยไม่ต้องเปลี่ยนท่า และยังสร้างภาพ 3 มิติได้อีกด้วย
ประโยชน์ของการตรวจหัวใจด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจชนิดต่างๆ ได้แม่นยำขึ้น เช่น ตรวจหาการตีบตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือรอยแผลเป็นที่หัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจวาย และยังสามารถช่วยตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายในอวัยวะอื่นๆ ได้ด้วย
ผู้ป่วยที่ควรได้รับการตรวจหัวใจด้วยเครื่อง MRI
- ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ไม่สามารถทำการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง หรือการสวนหัวใจโดยตรงได้ เนื่องจากมีข้อห้าม เช่น ภาวะไตเสื่อมหรือแพ้สารทึบรังสี
- ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยง่าย ซึ่งสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ผลการตรวจพิเศษอย่างอื่นไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถตรวจพิเศษอย่างอื่นได้ เช่นการเดินสายพาน เป็นต้น โดยสามารถทำการตรวจพิเศษที่เรียกว่า Stress cardiac MRI
- ประเมินหลังภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ว่าจะได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยวิธีบอลลูน ใส่ขดลวด หรือทำการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
- ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด
- ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน
- ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะหลอดเลือดแดงที่ไตตีบ เช่น มีความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา
- ผู้ป่วยที่สงสัยก้อนเนื้องอกในหัวใจ
การตรวจหลอดเลือดหัวใจและการทำงานของหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (Multi Detector CT Scan) โดยไม่ต้องสวนหัวใจโดยตรง เครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (Multi Detector CT Scan) เป็นเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยและประเมินโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง รวมถึงใช้แยกโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอันเนื่องมาจากหลอดเลือดโคโรนารีอุดตัต กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือโรคของกล้ามเนื้อหัวใจเอง (non- ischemic dilated cardiomyopathy) โดยมีหลักการคือใช้รังสีเอกซ์ในการสร้างสัญญาณภาพถ่ายทางรังสีวินิจฉัยร่วมกับการฉีดสารเปรียบต่างเข้าทางหลอดเลือดดำ และสัญญาณภาพจะถูกเปลี่ยนไปเป็นภาพถ่ายทางรังสีวินิจฉัยโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์
เครื่องชนิดนี้มีลักษณะภายนอกเป็นอุโมงค์ทรงกลมปลายเปิดทั้งสองด้าน และมีเตียงนอนตรวจ ภายในจะมีหลอดเอกซเรย์และตัวรับสัญญาณ เมื่อทำการตรวจ อุปกรณ์เหล่านี้จะหมุนรอบตัวผู้ป่วย 360 องศาด้วยความเร็วสูง พร้อมกับเตียงจะเลื่อนเข้าไปในอุโมงค์ จนได้สัญญาณภาพของหัวใจและหลอดเลือดอย่างครบถ้วน เตียงจึงจะค่อยๆเลื่อนออกมา
ข้อดีของการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วย Multi-detector CT Scanner
- สามารถตรวจหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ในผู้ป่วยที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่า 70 ครั้งต่อนาที
- ภาพผลการตรวจคมชัด ครอบคลุมบริเวณของอวัยวะที่ต้องการตรวจ และแสดงภาพอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยให้ภาพที่มีความละเอียดสูง จึงช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้ถูกต้องและรวดเร็ว
- สามารถตรวจปริมาณการสะสมของหินปูนในผนังหลอดเลือด และความผิดปกติของหลอดเลือดได้ในคราวเดียวกัน
- ให้ผลเบื้องต้นที่รวดเร็ว เนื่องจากใช้เวลาในการตรวจน้อย ทั้งนี้ข้อมูลจากการตรวจจะได้รับการแปลผลโดยรังสีแพทย์และอายุรแพทย์โรคหัวใจ ทำให้ทราบผลได้เร็วขึ้น
- ลดความเสี่ยง เนื่องจากไม่ต้องใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดงในการตรวจ
ขั้นตอนการตรวจ
- ผู้ป่วยต้องนอนราบบนเตียงตรวจที่สามารถเลื่อนเข้าเลื่อนออกอุโมงค์เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ได้ และผู้ป่วยจะถูกรัดด้วยสายรัด เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายของผู้ป่วยเคลื่อนออกจากตำแหน่ง
- ผู้ป่วยจะได้รับการติดสายวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจบนหน้าอก และ สายรัดต้นแขนสำหรับวัดความดันโลหิต
- ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฝึกซ้อมการกลั้นหายใจก่อนการตรวจตามขั้นตอน เวลาที่ใช้ในการกลั้นหายใจประมาณ 10 วินาที
- การตรวจวินิจโรคของหลอดเลือดโคโรนารี หลอดเลือดเอออร์ตาร์ และหลอดเลือดพัลโมนารี ด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ต้องได้รับการฉีดสารเปรียบต่างทางหลอดเลือดดำเสมอ
เวลาที่ใช้ในการตรวจประมาณ 30 นาที ซึ่งรวมเวลาการติดอุปกรณ์ที่ตัวผู้ป่วย และการเปิดหลอดเลือดดำ แต่เวลาที่ใช้ สแกน จริงๆ จะประมาณ 5 นาที
การตรวจหาความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ (Holter monitoring) แนวทางหนึ่งที่แพทย์จะใช้วินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือการตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Holter Monitor ซึ่งจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจในระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือในขณะที่สวมใส่อุปกรณ์ เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยสามารถใส่อุปกรณ์กลับบ้าน หรือทำงานตามปกติได้ โดยไม่ต้องนอนพักค้างที่โรงพยาบาล อุปกรณ์จะทำงานอัตโนมัติเมื่อตรวจพบความผิดปกติของการเต้นหัวใจ หรือในบางครั้งผู้ป่วยอาจต้องกดปุ่มเมื่อรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ผู้ที่เหมาะกับการตรวจด้วย Holter monitoring
- ผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่ตรวจไม่พบโดยการทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบปกติ
- ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะบ่อย แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา โดยเฉลี่ยเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการอย่างน้อย 1 – 2 วันต่ออาการ 1 ครั้ง
การตรวจสวนหัวใจและฉีดสี (Cardiac Catheterization and Angiogram)
การตรวจสวนหัวใจหรือการฉีดสี หมายถึงการใช้สายสวนขนาดเล็กใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดง อาจจะใส่บริเวณขาหนีบ ข้อพับแขน หรือข้อมือ ย้อนไปจนถึงจุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจทั้งซ้ายและขวา จากนั้นแพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสี หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าสี ฉีดเข้าไปทางสายสวนนั้น และไหลไปที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เสร็จแล้วจึงใช้เครื่องเอกซ์เรย์ตรวจสอบดูว่ามีการตีบแคบหรือตันของหลอดเลือดหรือไม่
วิธีนี้นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้อย่างแม่นยำแล้ว ยังช่วยในการตัดสินใจของแพทย์อีกด้วยว่าควรจะแก้ไขหรือรักษาด้วยวิธีใดให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด เช่น การใช้บอลลูน การใช้ขดลวดเล็กๆ เข้าไปขยายเส้นที่ตีบตัน หรือจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดบายพาส (Bypass Graft)
ข้อดีของการตรวจสวนหัวใจและฉีดสี
- ปัจจุบันการตรวจสวนหัวใจทำได้สะดวกขึ้น ใช้เวลาพักอยู่โรงพยาบาลเพียง 1 วัน
- ขณะที่ทำไม่ต้องใช้ยาสลบแต่อย่างใด จะใช้ยาเฉพาะที่เท่านั้น
- ขณะตรวจผู้ป่วยจะสามารถมองผ่านทางจอภาพได้ตลอดเวลา เมื่อการตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะทราบผลการตรวจได้ทันที
การตรวจหาความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG)
คลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG) เป็นวิธีการตรวจทางหัวใจที่มีต้นกำเนิดมายาวนานที่สุด สามารถตรวจได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ด้วยขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก และสามารถให้คำตอบเบื้องต้นแก่ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรคทางหัวใจ รวมถึงเป็นตัวชี้นำไปสู่แนวทางการตรวจรักษาที่เหมาะสมกับโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นอยู่ได้อย่างถูกต้อง
ECG จึงถูกนำไปประยุกต์เกี่ยวเนื่องในเครื่องมือสำหรับการตรวจหัวใจประเภทอื่นด้วย เช่น การเดินสายพาน (Exercise Treadmill Stress Test), การตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (24 Hours Holter Monitoring), Cardiac CT scan (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์), Cardiac MRI (เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า), การทำหัตถการฉีดสีสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) เป็นต้น
ECG ใช้วินิจฉัยโรคใดได้บ้าง ECG สามารถสื่อถึงการนำไฟฟ้าภายในกล้ามเนื้อหัวใจ อัตราการเต้นของชีพจร จังหวะการเต้นของหัวใจว่าเป็นไปอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ โดยที่ในแต่ละส่วนของกราฟไฟฟ้าหัวใจจะช่วยบอกถึงความสัมพันธ์ในการทำงานของหัวใจห้องบนและห้องล่าง อีกทั้งยังสามารถช่วยวินิจฉัยโรคต่างต่างได้อีกมากมาย อาทิ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ( Acute myocardial infarction)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวผิดปกติจากสาเหตุต่างต่าง (Left ventricular hypertrophy)
- โรคของกล้ามเนื้อหัวใจชนิดต่างต่าง (Cardiomyopathy)
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis)
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งแบบเต้นช้าผิดจังหวะ (bradyarrhythmias) หรือแบบเต้นเร็วผิดจังหวะ (tachyarrhythmias)
- โรคของเกลือแร่ที่ผิดปกติบางชนิด เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงหรือต่ำ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงหรือต่ำ
ขั้นตอนวิธีการตรวจ ECG
เริ่มต้นจากการให้ผู้รับการตรวจนอนลงบนเตียงที่ได้จัดเตรียมไว้ในห้องตรวจ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะค่อยๆ ป้ายเจลปริมาณเล็กน้อยลงบนบริเวณหน้าอก ข้อมือและข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง แล้วติดแผ่น electrode ที่บริเวณหน้าอก 6 จุด ที่ข้อมือและข้อเท้าทั้ง 2 ข้างอย่างละจุด หลังจากนั้นเครื่องจะประมวลผลและแสดงผลออกมาเป็นกราฟไฟฟ้าหัวใจ เพื่อให้แพทย์ได้อ่านผล โดยใช้เวลาในการตรวจทั้งสิ้นประมาณไม่เกิน 5 นาที
การตรวจหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก (Chest pain center) เจ็บหน้าอก (Chest Pain) คืออาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าอก ตั้งแต่บริเวณไหล่ลงมาถึงช่วงล่างของซี่โครง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่เกี่ยวกับหัวใจ ปอด ระบบย่อยอาหาร กล้ามเนื้อและกระดูก เป็นต้น ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกจึงควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยสาเหตุอย่างละเอียดและทำการรักษาต่อไป
การวินิจฉัยขั้นแรกประกอบด้วยวิธีต่อไปนี้
- ซักถามประวัติอาการ แพทย์จะซักถามประวัติอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่พึงสงสัย รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของผู้ป่วย
- ตรวจร่างกายทั่วไป แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) วิธีนี้จะทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ได้จากการรับสัญญาณผ่านขั้วไฟฟ้าที่ติดกับผิวหนัง ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บตรงกล้ามเนื้อหัวใจจะมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
- การตรวจเลือดแพทย์จะให้ตรวจเลือดเพื่อตรวจดูว่าระดับเอนไซม์ที่พบในกล้ามเนื้อหัวใจนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยโรคหัวใจจะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย ส่งผลให้เอนไซม์ในกล้ามเนื้อหัวใจออกมาอยู่ภายในเลือด
- การเอกซเรย์การตรวจจากภาพเอกซ์เรย์จะช่วยตรวจสภาพปอด ขนาดและรูปร่างของหัวใจ รวมทั้งหลอดเลือดสำคัญอื่นๆ นอกจากนี้ การวินิจฉัยด้วยวิธีเอกซเรย์ยังช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับปอดอย่างโรคปอดบวมหรือเยื่อหุ้มปอดรั่วหรือไม่
- การทำซีทีสแกน (CT Scan)การทำซีทีสแกนจะช่วยตรวจลิ่มเลือดภายในปอด รวมทั้งผนังหลอดเลือดว่าเกิดการฉีกขาดหรือไม่
เมื่อผ่านการตรวจขั้นแรกแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจต้องทำการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย ได้แก่
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)การตรวจด้วยวิธีนี้จะใช้คลื่นเสียงในการแสดงลักษณะทางกายภาพ การเคลื่อนไหวและการบีบตัวของหัวใจออกมาเป็นวิดีโอ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องสอดอุปกรณ์เล็กๆ เข้าไปในคอเพื่อส่องดูส่วนต่างๆ ของหัวใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- การทำซีทีสแกน (CT Scan)การทำซีทีสแกนในขั้นนี้จะทำเพื่อตรวจหาว่าแคลเซี่ยมสะสมเป็นคราบตะกรัน ปิดกั้นการไหลเวียนเลือดตามผนังหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
- การตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiogram)การตรวจเอกซ์เรย์หลอดเลือดนี้จะช่วยวินิจฉัยว่าหลอดเลือดหัวใจจุดใดที่ตีบหรือเกิดการอุดตัน โดยแพทย์จะสอดท่อหรือสายเล็กๆ ที่ตรงข้อมือหรือขาหนีบผู้ป่วยเข้าไปยังหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นจึงฉีดสารทึบรังสีหรือเข้าไปในหลอดเลือด ซึ่งจะแสดงผลของหลอดเลือดหัวใจผ่านอุปกรณ์เอกซ์เรย์
การตรวจและวินิจฉัยผู้ป่วยเป็นลมหมดสติด้วยเครื่องปรับระดับ (Tilt Table Test)
อุปกรณ์เตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) ใช้สำหรับการตรวจหาสาเหตุในผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลม หน้ามืด หรือหมดสติบ่อยๆ โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ การทดลอบนี้จะทำในห้องที่มีเตียงพิเศษ สามารถปรับระดับองศาความชันของเตียงได้ ซึ่งแพทย์จะวิเคราะห์ผลจากอัตราชีพจร ความดันโลหิต ลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาการของผู้ป่วยในขณะที่ถูกเปลี่ยนระดับเตียงจากนอนราบเป็นค่อยๆ ชันมากขึ้นประมาณ 70 – 80 องศา โดยใช้เวลาการทดสอบประมาณ 15 – 20 นาที
การเตรียมตัวสำหรับการเข้ารับบริการ
- ควรงดน้ำและอาหารทุกชนิดก่อนการทดสอบอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการคลื่นไส้ อาเจียน
- หากท่านเป็นเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถรับประทานอาหารอะไรได้บ้างก่อนการตรวจ
- ให้ญาติมากับผู้ป่วยด้วย เนื่องจากหลังการทดสอบผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการข้างเคียงจากการทดสอบได้
การรักษาโรคหัวใจและการผ่าตัดหัวใจ
- การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันด้วยวิธีการบอลลูนหรือใส่ขดลวด (Percutaneous coronary intervention) โดยไม่ต้องผ่าตัด
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting : CABG)
- การเปลี่ยนหรือซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Open heart surgery)
- การรักษาโรคลิ้นเลือดหัวใจตีบด้วยการสวนสายและขยายลิ้นหัวใจ โดยไม่ต้องผ่าตัด
- การรักษาโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดบางอย่างด้วยการสวนสายและใช้อุปกรณ์พิเศษโดยไม่ต้องผ่าตัด
- การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Permanent pacemaker placement)
- การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Cardiac Resynchronization Therapy : CRT)
- การใช้คลื่นวิทยุจี้สายไฟฟ้าในหัวใจ เพื่อรักษาภาวะหัวใจที่เต้นผิดจังหวะ (Radiofrequency ablation)
- การรักษาผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือหัวใจล้มเหลวด้วยเครื่องนวดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (EECP)
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันด้วยวิธีการบอลลูนหรือใส่ขดลวด (Percutaneous coronary intervention) โดยไม่ต้องผ่าตัด
เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง จนกระทั่งอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ดังนั้นแพทย์จะต้องทำการขยายหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างเป็นปกติ โดยใช้อุปกรณ์ “บอลลูน” (Balloon Angioplasty) มาช่วยในการขยายหลอดเลือดหัวใจ เพื่อดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดกับผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น เมื่อเลือดไหลผ่านได้ดีขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกน้อยลง หายใจได้เต็มที่ขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้
นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่ถูกคิดค้นและนำมาใช้ร่วมกับบอลลูน เพื่อให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น ได้แก่ ขดลวด (stent) ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัย และลดปัญหาเรื่องการตีบตันซ้ำในบริเวณที่ทำบอลลูนไปอีกด้วย ปัจจุบันร้อยละ 70-80 ของการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด แพทย์มักจะใส่ขดลวดร่วมด้วย
ภาวะหรือโรคที่ควรรักษาด้วยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างรุนแรง
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- อาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
ขั้นตอนการขยายหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ป่วยต้องงดอาหารและเครื่องดื่ม 6 ชั่วโมงก่อนรับการรักษา ผู้ป่วยที่ใช้ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ยาขับปัสสาวะ หรืออินซูลินอยู่ ต้องสอบถามแพทย์ว่าจำเป็นต้องงดยาหรือไม่
- ผู้ป่วยจะได้รับสารละลายและยาทางสายน้ำเกลือ จากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกชาบริเวณที่จะใส่สายสวน ซึ่งอาจเป็นบริเวณขาหนีบ ข้อมือ หรือข้อพับ
- แพทย์จะใส่สายสวน ซึ่งมีบอลลูนที่ยังแฟบติดอยู่ตรงปลายเข้าไปยังหลอดเลือดบริเวณที่ตีบหรืออุดตัน เมื่อสายสวนเข้าไปถึงจุดเป้าหมาย แพทย์จะทำให้บอลลูนพองตัวไปดันไขมันที่อุดตันอยู่ให้ไปชิดกับผนังหลอดเลือด เปิดทางให้หลอดเลือดขยายออก โดยมากแพทย์จะใส่ขดลวดเข้าไปด้วย เพื่อช่วยลดโอกาสที่หลอดเลือดจะตีบใหม่ ขดลวดจะอยู่ในจุดที่ใส่เข้าไปอย่างถาวร
- กระบวนการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดใช้เวลาประมาณ 60-120 นาที
การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting : CABG)
การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่นิยมเรียกกันว่าการผ่าตัดบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นการผ่าตัดทำทางเบี่ยงของทางเดินเลือดใหม่ เพื่อให้เลือดผ่านจุดที่ตีบหรือตันได้ดีขึ้น ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้
ภาวะหรือโรคที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างรุนแรง
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- อาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
ขั้นตอนการผ่าตัด
- แพทย์จะเลือกหลอดเลือดที่มีคุณภาพดีจากร่างกายของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดแดงเสริม (Arterial Graft) หรือหลอดเลือดดำเสริม (Vein Graft) ซึ่งต้องคำนึงถึงตำแหน่งที่หลอดเลือดอุดตัน และจำนวนจุดที่อุดตันเป็นหลัก
- เมื่อเลือกหลอดเลือดเสริมได้แล้ว แพทย์จะต่อปลายหลอดเลือดข้างหนึ่งเข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงหัวใจ ส่วนปลายหลอดเลือดอีกข้างหนึ่งจะต่อเข้ากับหลอดเลือดแดงใต้บริเวณที่ตีบหรืออุดตัน ส่งผลให้เลือดจากหลอดเลือดแดงใหญ่เดินทางไปตามหลอดเลือดแดงเสริม อ้อมการอุดตันและไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ในที่สุด
การเปลี่ยนหรือซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Open heart surgery) การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Open Heart Surgery) โดยทั่วไปจะหมายถึงการผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Heart-Lung Bypass Machine) ช่วยในการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาส การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีรูรั่วภายในหัวใจ ทว่าในปัจจุบัน การผ่าตัดหัวใจหลายชนิดได้พัฒนาขึ้นมาก ในบางครั้งการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การทำผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาสก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงและความเจ็บปวดน้อยลง แผลผ่าตัดเล็กลง
ขั้นตอนของการผ่าตัดหัวใจ
- ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะนอนหลับและปราศจากความเจ็บปวดตลอดการผ่าตัด
- ศัลยแพทย์จะผ่าหน้าอกแผลขนาด 8-10 นิ้ว
- ศัลยแพทย์จะผ่าผ่านกระดูกหน้าอกบางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อที่จะเข้าถึงหัวใจ
- เมื่อสามารถมองเห็นหัวใจ ผู้ป่วยอาจจะถูกเชื่อมต่อกับเครื่องปอดและหัวใจเทียม เครื่องจะทำหน้าที่แทนหัวใจและปอด ระหว่างศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจ เพื่อให้ไม่มีเลือดออกจากหัวใจ และหัวใจหยุดเต้น ศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจ สามารถทำงานสะดวก ปัจจุบันการผ่าตัดบางชนิด สามารถทำได้โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม จึงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้
- หลังจากศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจเสร็จ ศัลยแพทย์จะเย็บกระดูกหน้าอกด้วยลวด ให้กระดูกติดกันเหมือนก่อนผ่าตัด และเย็บชั้นของผิวหนัง กลับสู่สภาพเดิม
การรักษาโรคลิ้นเลือดหัวใจตีบด้วยการสวนสายและขยายลิ้นหัวใจ โดยไม่ต้องผ่าตัด โรคลิ้นหัวใจตีบ เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของลิ้นหัวใจ อาจมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้นและเปิดได้น้อยลง เลือดจะไหลผ่านลิ้นหัวใจได้ลำบาก ผู้ป่วยจะเกิดอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ใจสั่น ขาบวม ตามมาด้วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสียงฟู่บริเวณลิ้นหัวใจ จนถึงขั้นเป็นลมหมดสติบ่อยๆ ยิ่งลิ้นหัวใจตีบมากก็อาจทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งและหัวใจล้มเหลวในที่สุด
การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter Aortic Valve Implantation หรือ TAVI) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยแพทย์จะใช้การรักษาวิธีนี้เมื่อพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดแบบเปิดช่องอก
ขั้นตอนการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด
- แพทย์จะนำลิ้นหัวใจเทียมแบบใหม่ที่ทำจากเนื้อเยื่อ และได้รับการออกแบบให้สามารถหดและขยายตัวได้มาใส่ที่ปลายของสายสวน
- ใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบ หรือเจาะผ่านผิวหนังส่วนยอดหัวใจ
- เมื่อสายสวนเข้าไปอยู่ในตำแหน่งระหว่างลิ้นหัวใจเดิมแล้ว จึงทำการขยายลิ้นหัวใจเทียมด้วยบอลลูน ลิ้นหัวใจเทียมที่กางขยายออกจะเข้าไปแทนที่ลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพ
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นผู้ป่วยจะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 4–5 วัน
ผู้ที่เหมาะกับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง
- ผู้ป่วยสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงจากการผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายโรค หรือเคยผ่าตัดหัวใจมาก่อน
- ซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษาจะมีมาตรฐานในการประเมินปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว
- เป็นผู้ป่วยที่คาดว่าจะมีชีวิตยืนยาวเกิน 1 ปีหรือไม่ได้อยู่ในภาวะของโรคมะเร็งระยะลุกลาม
ข้อดีของการรักษาด้วย TAVI
- ร่างกาย ฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะความเจ็บปวดที่แผลน้อย เนื่องจากไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก
- ลดความเสี่ยงในการรักษาลง ภาวะแทรกซ้อนน้อยลง เช่น ติดเชื้อ ไตวาย และมีโอกาสเสียชีวิตน้อยลง
การรักษาโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดบางอย่างด้วยการสวนสายและใช้อุปกรณ์พิเศษโดยไม่ต้องผ่าตัด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิดสามารถทำการรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก โดยการนำอุปกรณ์พิเศษ ที่มีลักษณะคล้ายร่ม สอดผ่านทางเส้นเลือดดำเข้าสู่หัวใจเพื่อปิดรูรั่ว Patent Ductus Arteriosus (PDA) หรือภาวะเส้นเลือดเกิน และการปิดรูรั่วของผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (ASD) ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เด็กจะไม่มีรอยแผลเป็นหลังการรักษา หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็สามารถกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ทันทีและสามารถใช้ชีวิตปกติได้ วิธีการนี้ถือว่าปลอดภัยและมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าด้วย
การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Permanent pacemaker placement) เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวร หรือ Pacemaker คืออุปกรณ์อีเล็กโทรนิกส์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อกำเนิดกระแสไฟฟ้าในการช่วยกระตุ้นหัวใจให้เต้นในอัตราเร็วที่เหมาะสม โดยอุปกรณ์นี้จะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจห้องที่ทำงานผิดปกติ และทำหน้าที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจตามที่กำหนด เพื่อให้เกิดจังหวะการเต้นของหัวใจทำให้มีปริมาณเลือดออกจากหัวใจต่อนาที (Cardiac Output) เพียงพอ
การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Cardiac Resynchronization Therapy : CRT) CRT เป็นอุปกรณ์ใหม่ที่ใช้ช่วยรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ที่มีกล้ามเนื้อหัวใจทำงานแย่ลง ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเข้าไปในร่างกาย เพื่อใส่สายขั้วไฟฟ้า 2 เส้น เข้าไปทางหลอดเลือดดำบริเวณหน้าอก ใต้กระดูกไหปลาร้า ซึ่งเส้นหนึ่งจะใส่ไปที่หัวใจห้องบน ส่วนอีกเส้นปลายสายจะอยู่ที่หัวใจห้องล่าง การส่งสัญญาณกระตุ้นจังหวะหัวใจที่ผนังกล้ามเนื้อหัวใจทั้ง 2 ด้านพร้อมกันนี้ จะทำให้ผนังกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวประสานงานกันดีขึ้น และแรงบีบที่มากขึ้นจะช่วยให้ปริมาณเลือดที่ถูกส่งออกไปเลี้ยงหัวใจแต่ละรอบเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดโดยรวมดีขึ้น ลิ้นหัวใจรั่วลดลง อาการหัวใจล้มเหลวดีขึ้น จำนวนครั้งที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง สามารถออกกำลังได้มากขึ้น ดำเนินชีวิตตามปกติได้ดีขึ้น รวมทั้งมีอายุยืนยาวขึ้นด้วย
การใช้คลื่นวิทยุจี้สายไฟฟ้าในหัวใจ เพื่อรักษาภาวะหัวใจที่เต้นผิดจังหวะ (Radiofrequency ablation) การใช้คลื่นวิทยุจี้สายไฟฟ้าในหัวใจ (Radiofrequency Ablation : RFA) เป็นหนึ่งในวิธีการผ่าตัดโดยใช้ความร้อน (thermal ablation) เพื่อทำลายการทำงานของเนื้อเยื่อเป้าหมาย ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (cardiac arrhythmia) และกำจัดเนื้อเยื่อมะเร็ง
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย RFA สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการผ่าตัดเปิดช่องอก ไม่ต้องใช้ยาสลบและการใส่ท่อช่วยในการขยายไว้ แต่ใช้อิเล็กโทรดแบบสายสวนสอดเข้าไปในหัวใจ ผ่านทางหลอดเลือดแดงบริเวณต้นขา หรือหลอดเลือดดำใต้ไหปลาร้า หรือหลอดเลือดดำบริเวณลำคอ แล้วจึงปล่อยพลังงานความถี่คลื่น วิทยุออกทางปลายอิเล็กโทรด เพื่อทำลายเนื้อเยื่อเป้าหมาย ทำให้เกิดเป็นรอยแผลเป็นที่ผนังหัวใจ ซึ่งเป็นการตัดเส้นทางการเดินที่ผิดปกติของกระแสไฟฟ้าได้
ข้อดีของการใช้คลื่นวิทยุจี้สายไฟฟ้าในหัวใจ
- ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก
- มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ
- สูญเสียเลือดน้อย
- ผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัดน้อยมาก
การรักษาผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือหัวใจล้มเหลวด้วยเครื่องนวดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (EECP) เครื่องนวดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ หรือ Enhanced External Counterpulsation (EECP) มีหลักการทำงานโดยการปั๊มลมจากเครื่องเข้าสู่แถบรัดที่พันอยู่รอบขาของผู้ป่วย ในขณะผู้ป่วยนอนพักอยู่บนเตียง แถบรัดแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนน่อง ต้นขา และสะโพก การปั๊มลมเข้าและออกจากแถบรัดจะเข้ากับจังหวะการทำงานของหัวใจ โดยอาศัยการทำงานอย่างประสานกันของเครื่องและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะทำงาน เครื่องจะปั๊มลมเข้าแถบรัด ในระยะที่หัวใจอยู่ในช่วงจังหวะคลายตัว เริ่มจากส่วนน่อง ต้นขา และสะโพกตามลำดับ ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจเพิ่มขึ้น แถบรัดจะคลายตัวโดยอัตโนมัติก่อนที่หัวใจจะเริ่มบีบตัว การทำงานของเครื่องตามจังหวะการเต้นของหัวใจดังกล่าวจะช่วยให้การทำงานของหัวใจเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น
ประโยชน์ของ EECP ที่มีต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ
- กระตุ้นให้หัวใจสร้างหลอดเลือดใหม่ หรือเกิดการแตกแขนงของหลอดเลือดเล็กๆ เพิ่มขึ้น เป็นทางเบี่ยงให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจในตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบได้ดียิ่งขึ้น
- การทำงานของหลอดเลือดหัวใจและร่างกายดีขึ้น เกิดผลดีต่อหัวใจคล้ายคลึงกับที่ได้จากการออกกำลังกาย ส่งผลให้หัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น พบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้จะเจ็บหน้าอกน้อยลง และสามารถทำกิจวัตรประจำวันหรือออกกำลังกายได้มากขึ้น
ผู้ที่เหมาะกับการรักษาด้วยเครื่อง EECP
- ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่รักษาด้วยยา ขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน ขดลวด หรือผ่าตัดหัวใจแล้วยังมีอาการอยู่
- ผู้ที่ไม่สามารถทำการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการรักษาอื่นๆ เช่น การผ่าตัดหัวใจ หรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนหรือขดลวด
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผู้ที่แพทย์แนะนำการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน การผ่าตัดหัวใจ แต่ไม่อยากทำ ต้องการทางเลือกในการรักษารูปแบบอื่น
เทคโนโลยีทางการรักษา ที่คลินิกหัวใจ โรงพยาบาลปิยะเวท ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย อาทิ
- เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงแบบ 3 และ 4 มิติ (3D, 4D Echocardiography)
- เครื่องนวดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (EECP)
- ห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization Laboratory)
- เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (Multi–Detector Spiral CT – MDCT)
- เครื่องตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายบนสายพานเลื่อน (Exercise Stress Test)
การตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiovascular Magnetic Resonance Imaging – CMR) ที่สามารถให้ข้อมูลทั้งหมดของการทำงานของหัวใจ ลิ้นหัวใจ เส้นเลือดหัวใจ และสภาวะของเลือดที่หล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของหัวใจได้อย่างละเอียดและแม่นยำ