บริการทางการแพทย์

ศูนย์เลสิค

6 Floor, open everyday
7:00-19:00 Tel. 02-129-5555

ศูนย์เลสิค โรงพยาบาลปิยะเวท

เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะคืนความสดใสให้แก่ดวงตาของคุณ  ด้วยบริการรักษาโรคทางจักษุต่างๆ อย่างครอบคลุมและใส่ใจทุกขั้นตอน โดยมีจักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีประสบการณ์ในการดูแลรักษา พร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยตรงตามมาตรฐานสากล สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคทางจักษุโดยเฉพาะ เพื่อช่วยให้คุณหลุดออกจากกรอบแว่น กรอบการมองเห็น กรอบการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ แล้วก้าวสู่โลกใบใหม่อย่างสง่างามและมั่นใจ

แนวทางการรักษา
  • เลสิค (Laser-Assisted In Situ Keratomileusis)
  • เลนส์เสริม ICL (Implantable Contact Lens)
  • สลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification)
  • การใช้เลเซอร์และการผ่าตัดรักษาโรคต้อหิน
  • การยิงเลเซอร์ PRP (Panretinal photocoagulation) รักษาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
  • การผ่าตัดรักษาโรคท่อน้ำตาอุดตันด้วยการส่องกล้อง (Endoscopic dacryocystorhinostomy)
LASIK (Laser-Assisted In Situ Keratomileusis)

เป็นวิธีการผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติ (สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง) แบบถาวร โดยใช้เครื่องมือตัดกระจกตา (Microkeratome) เพื่อแยกชั้นกระจกตาให้มีความหนาประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของกระจกตาทั้งหมด ก่อนจะใช้การยิงเลเซอร์ Excimer Laser  ขัดเนื้อกระจกตาชั้นกลาง เพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาโดยรวมแล้วจึงปิดผิวกระจกตาเข้าที่เดิม

จุดเด่นของเลสิค
  • มองเห็นชัดเจนและสามารถใช้สายตาได้ในเวลาที่รวดเร็วหลังการรักษา
  • มีผลข้างเคียงน้อย
  • เป็นการรักษาสายตาแบบถาวร ไม่มีความเจ็บปวดในการรักษา
  • ไม่ต้องฉีดยาชา เพียงแต่หยอดยาชา และไม่มีการเย็บแผล
  • สามารถใช้ร่วมกับการรักษาสายตาแบบอื่นได้ เพื่อให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
ผู้ที่เหมาะสมสำหรับการรักษาด้วยวิธีเลสิค
  • มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป และมีสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี
  • ไม่มีโรคของกระจกตา เช่น โรคกระจกตาย้วย ตาแห้งอย่างรุนแรง และโรคตาอย่างอื่น เช่น จอประสาทตาเสื่อม หรือโรคทางร่างกายที่มีผลต่อการหายของแผล เช่น โรค SLE ,โรคตาแห้ง ปากแห้ง (Sjogren’s ) หรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการขาดภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย
  • ไม่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • มีความเข้าใจถึงการผ่าตัดด้วยวิธีเลสิคอย่างละเอียด และมีความคาดหวังที่ถูกต้อง
การเตรียมตัวก่อนมารับการรักษาเลสิค 

หลังจากผ่านการตรวจประเมินสภาพตาโดยละเอียด เพื่อพิจารณาว่าเหมาะสมกับการรักษาเลสิคแล้ว ควรเตรียมตัวก่อนรับการรักษาด้วยเลสิค ดังนี้

  • งดใส่ contact lens ชนิดนิ่ม งดอย่างน้อย 3 วัน ส่วนชนิดแข็งหรือกึ่งแข็งกึ่งนิ่ม งดอย่างน้อย 14 วัน ก่อนวันจักษุแพทย์นัดผ่าตัด
  • วันที่นัดผ่าตัด ควรล้างหน้าและสระผมก่อนมา สุภาพสตรีงดแต่งหน้า ไม่ควรนำเครื่องประดับและทรัพย์สินของมีค่าใดๆ มาด้วย และควรสวมเสื้อติดกระดุมหน้า เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนเสื้อภายหลังการผ่าตัด ซึ่งจะปิดฝาครอบตา
  • หากมียาที่รับประทานเป็นประจำ กรุณาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่วันตรวจว่าควรหยุดยาประเภทใดหรือไม่
  • งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากแอลกอฮอล์และสารระเหยต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องเลเซอร์
  • ในวันผ่าตัดห้ามคนไข้ขับรถเอง เพราะหลังการผ่าตัดจะต้องปิดฝาครอบตา ซึ่งจะทำให้ขาดความปลอดภัยในการขับรถ

เลนส์เสริม ICL (Implantable Contact Lens) เลนส์เสริม ICL หรือ Implantable Contact Lens เป็นเทคโนโลยีใหม่ในการแก้ปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง แบบถาวร ซึ่งจะช่วยให้ภาพที่มองเห็นหลังการใส่เลนส์เสริมเป็นภาพที่คมชัดสูง เลนส์เสริม ICL ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก FDA Approval เพื่อใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลกตามหลักสากล ทั้งยังผ่านการวิจัยและพัฒนาโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญมาอย่างต่อเนื่อง 

ICL ทำมาจากอะไร เลนส์เสริม ICL ผลิตจากวัสดุ Collamer ประกอบด้วย Collagen และ Polymer ทำให้เลนส์มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเข้ากับร่างกายได้ โดยไม่เกิดการต่อต้านจากเซลล์ในร่างกาย วัสดุของเลนส์เสริมประกอบด้วย UV blocker ช่วยปกป้องดวงตา เนื่องจากการได้รับรังสี UVA และ UVB ในปริมาณที่มากเกินไป และยังมีคุณสมบัติเป็นตัวกลางที่ใกล้เคียงกับเลนส์ธรรมชาติ (Crystalline Len) ช่วยให้การสะท้อนและการหักเหของแสงเป็นไปอย่างธรรมชาติ ภาพที่มองเห็นหลังจากการใส่เลนส์เสริมอย่างถูกต้องจึงมีความคมชัดเป็นอย่างมาก

 ผู้ที่เหมาะกับการใส่เลนส์เสริม ICL
  • มีอายุระหว่าง 21-50 ปี และมีความผิดปกติในการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง
  • มีสายตาคงที่ เปลี่ยนแปลงไม่เกิน5D ในระยะเวลา 1 ปี
  • ไม่เคยผ่านการผ่าตัดตามาก่อน
  • ไม่มีประวัติโรคทางตาว่าเป็นต้อหิน ม่านตาอักเสบ หรือโรคประสาทจอตาเสื่อมเนื่องจากเบาหวาน
ความพิเศษของเลนส์เสริม ICL
  • ICL มีลักษณะใส บาง และยืดหยุ่น สามารถพับให้เหลือขนาดเล็กและใส่เข้าไปในดวงตาผ่านรูเล็กๆ ที่กระจกตาภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อดวงตา
  • ใส่ได้ง่าย ไม่ทำให้เกิดอาการตาแห้งหรือระคายเคืองกระจกตา
  • สามารถนำออกจากดวงตาได้
  • สามารถรักษาได้ในกรณีที่คนไข้มีข้อจำกัดสำหรับการรักษาสายตาด้วยเลเซอร์
  • รักษาภาวะสายตาสั้นที่มีสายตาเอียงร่วมด้วยได้ในขั้นตอนเดียว
ขั้นตอนในการใส่ ICL
  • ผู้ที่มีปัญหาสายตาจะได้รับการตรวจและวัดค่าความผิดปกติทางสายตา เพื่อนำค่าที่ได้มาคำนวณ และสั่งตัดเลนส์เสริมให้พอดีกับค่าสายตาของแต่ละคน
  • แพทย์จะหยอดยาชาให้ ก่อนจะเปิดแผลที่ขอบตาดำ ขนาดเล็ก 2-3 มิลลิเมตร
  • ใส่สารหนืดและ ICL เข้าไปในดวงตา โดย ICL จะอยู่ระหว่างม่านตาและเลนส์ธรรมชาติ
  • นำสารหนืดออกจากดวงตา

ศูนย์จักษุและเลสิค โรงพยาบาลปิยะเวท ได้นำเอาเลนส์เสริม ICL ทั้งรุ่น V4c ที่มีรูตรงกึ่งกลางเลนส์ สามารถระบายของเหลวภายในตาได้สะดวก จึงลดขั้นตอนในการใส่เลนส์เสริมให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และรุ่น EVO+ Visian ICLซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ เพิ่มการมองเห็นให้ครอบคลุมกระจกตา ช่วยให้ผู้ที่มีรูม่านตากว้างกว่ากระจกตาสามารถมองเห็นตอนกลางคืนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) ต้อกระจกเป็นภารเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดจากการขุ่นมัวของแก้วตา หรือเลนส์ตา เมื่อเกิดต้อกระจกขึ้น จอประสาทตาจะรับแสงได้ไม่เต็มที่ ทำให้สายตาพร่ามัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง ยิ่งแก้วตาขุ่นมากขึ้น การมองเห็นจะลดน้อยลงตามลำดับ ต้อกระจกมักจะพบในผู้สูงอายุ ในช่วงอายุระหว่าง 55 – 64 ปี จะพบได้ 40%  ส่วนช่วงอายุ 65 – 74 ปี จะพบได้ 50% และอายุมากกว่า 74 ปี พบว่าเป็นต้อกระจกมากกว่า 90%

ทางศูนย์จักษุและเลสิค โรงพยาบาลปิยะเวท ใช้วิธีผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน  ซึ่งจักษุแพทย์จะเปิดช่องเล็กๆ ที่ผนังตาขาว เพื่อสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่ตัวต้อกระจก และปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าสลายต้อกระจกจนหมด แต่หลังจากสลายต้อกระจก ดวงตาจะไม่มีเลนส์แก้วตาที่ทำหน้าที่รวมแสง แพทย์จึงต้องใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าแทนที่ เพื่อให้การมองเห็นเป็นปกติ

ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม
  • Monofocal เป็นเลนส์แก้วตาเทียมชนิดมาตรฐานหรือโฟกัสระยะเดียว เลนส์ชนิดนี้จะช่วยในการมอง ไกลที่ชัดเจน แต่ต้องอาศัยแว่นสายตาช่วยในการมองใกล้
  • Multifocal เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสายตาของผู้มีภาวะสายตายาวตามอายุ
  • Toric เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแก้ไขสายตาเอียง
  • Multifocal Toric นวัตกรรมใหม่ของเลนส์แก้วตาเทียม ที่มีประสิทธิภาพสามารถแก้ไขภาวะสายตาเอียง พร้อมกับปรับภาพชัดได้หลายระยะอยู่ในเลนส์เดียวกัน
  • Extended Depth of Focus เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขภาวะผู้มีสายตายาวตามอายุ โดยจะช่วยเพิ่มระยะการปรับโฟกัสภาพให้มองเห็นคมชัดขึ้น

การใช้เลเซอร์และการผ่าตัดรักษาโรคต้อหิน ต้อหินเป็นโรคที่ที่มีการทำลายขั้วประสาทตา ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้ หากไม่ได้รับการรักษา โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคก็คือความดันลูกตาสูง

ต้อหินแบ่งได้หลักๆ 2 ชนิด ได้แก่ ต้อหินชนิดมุมเปิด ซึ่งจะมีความดันตาสูงขึ้นอย่างช้าๆ จึงไม่มีอาการปวดตา ประสาทตาจะถูกทำลายไปทีละน้อย และต้อหินชนิดมุมปิด จะมีความดันตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นรัศมีรอบดวงไฟ คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

การรักษาต้อหิน การรักษาต้อหินจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค ซึ่งทางศูนย์จักษุและเลสิค ใช้วิธีการรักษาต้อหิน ดังนี้

  • รักษาด้วยยาหยอดตา ซึ่งจะออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ช่วยให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไหลเวียนดีขึ้น ซึ่งต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และติดตามผลเป็นระยะๆ
  • การใช้เลเซอร์ โดยประเภทของเลเซอร์ที่ใช้จะขึ้นกับชนิดของต้อหินและระยะของโรค

Selective laser trabeculoplasty (SLT) เป็นการรักษาต้อหินมุมเปิด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาหยอดตาแล้วได้ผลไม่ดีนัก มักใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ
Laser peripheral iridotomy (LPI) เป็นการรักษาต้อหินมุมปิด
Argon laser peripheral iridoplasty (ALPI) ใช้ร่วมกับ LPI หรือในกรณีไม่สามารถใช้ LPI รักษาได้
Laser cyclophotocoagulation มักใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล

  • การผ่าตัด ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้

Trabeculectomy เป็นการผ่าตัดทำทางระบายสำหรับน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาขึ้นมาใหม่ เพื่อลดความดันตาให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ
Aqueous shunt surgery กรณีที่ผ่าตัดวิธีแรกไม่ได้ผล อาจทำการผ่าตัดด้วยการใส่ท่อระบายเพื่อลดความดันตาที่จะเกิดขึ้น
การยิงเลเซอร์ PRP (Panretinal photocoagulation) รักษาโรคเบาหวานขึ้นจอตา

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานขึ้นจอตาจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติในการมองเห็น จนกระทั่งโรครุนแรงมากแล้ว  จึงมาพบแพทย์ด้วยอาการตามัว เหมือนมีเงาดำๆ บัง ลอยไปมา จนถึงมืด และมองไม่เห็นในที่สุด ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกรายควรจะมาพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการขยายม่านตา ตรวจจอประสาทตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

เมื่อจักษุแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแล้ว อาจตรวจพิเศษเพิ่มเติม วิเคราะห์ชั้นจอประสาทตาด้วยเครื่อง OCT (Optical Coherence Tomography) การฉีดสีเข้าทางเส้นเลือดและถ่ายภาพจอประสาทตาด้วยวิธี Fluorescein Angiography เพื่อตรวจดูความผิดปกติของเส้นเลือดที่จอประสาทตา ก่อนรับการรักษา

การรักษาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา จะใช้วิธียิงเลเซอร์ PRP (Panretinal photocoagulation) หลายครั้ง จึงควบคุมโรคได้ นอกจากนี้ยังใช้การฉีดยาต้านการเกิดเส้นเลือดเข้าน้ำวุ้นตา (Intravitreal Anti VEGF Treatment) ซึ่งได้ผลดีในบางราย แต่จำเป็นต้องฉีดหลายครั้ง ทั้งนี้ จักษุแพทย์ผู้รักษาจะให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและได้รับผลที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

การผ่าตัดรักษาโรคท่อน้ำตาอุดตันด้วยการส่องกล้อง (Endoscopic dacryocystorhinostomy) โรคท่อน้ำตาอุดตัน (Nasolacrimal duct obstruction) เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำตา จึงไม่สามารถระบายน้ำตาได้อย่างปกติ ทำให้มีน้ำตาไหลตลอดเวลา ระคายเคืองตา และเพิ่มความเสี่ยงต่อการอักเสบและติดเชื้อบริเวณดวงตาได้

การผ่าตัดแก้ไขภาวะโรคท่อน้ำตาอุดตันในผู้ใหญ่มี 2 วิธี ได้แก่

  • External Dacryocystorhinostomy (External DCR) เป็นวิธีดั้งเดิมที่จักษุแพทย์จะผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาโดยกรีดผิวหนังด้านนอก วิธีนี้ให้โอกาสสำเร็จจากการผ่าตัดค่อนข้างสูงถึง 95% แต่มีข้อเสียคือจะมีรอยแผลผ่าตัดบริเวณระหว่างเปลือกตาและจมูก นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบ บวม แดงมาอยู่ก่อนแล้ว จะยังไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้ เนื่องจากผิวหนังบริเวณถุงน้ำตานั้นมีการอักเสบ
  • Endoscopic Dacrycystorhinostomy (Endoscopic DCR) เป็นการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันด้วยวิธีส่องกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งมีขนาดเล็กเพียง  4 มิลลิเมตร และทำการผ่าตัดบายพาสให้เกิดการระบายของเสียจากตาลงไปจมูก การผ่าตัดวิธีนี้เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน มีอัตราความสำเร็จจากการผ่าตัดสูงมากถึง 98-99% โดยไม่ทิ้งร่องรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดบนใบหน้า

    ทางโรงพยาบาลปิยะเวทใช้วิธีการส่องกล้องในการรักษาท่อน้ำตาอุดตัน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผ่าตัด ไม่ทำให้เกิดแผลเป็น และผู้ป่วยยังฟื้นตัวได้เร็วอีกด้วย

เทคโนโลยีในการรักษาดวงตาและสายตา

  • PRK (Photorefractive Keratectomy)
  • Epi-K (Epi LASIK)
  • SBK (Sub-Bowmans Keratomileusis)
  • เทคโนโลยีเลเซอร์ Excimer Quest
  • Wavefront Technology

PRK (Photorefractive Keratectomy) 
เป็นวิธีการรักษาปัญหาสายตาสั้น ยาว และเอียง โดยการใช้ใบมีด ขูดที่ผิวกระจกตาออกก่อนยิงเลเซอร์เหมาะสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง หรือผู้ที่ไม่ต้องการให้เห็นแผลผ่าตัด เช่น นักบิน

Epi-K (Epi LASIK)  
Epi-K พัฒนามาจากข้อดีของ PRK และ LASIK โดยการใช้เครื่องมือ (Separater) ในการแยกชั้นกระจกตา ทำให้เหลือความหนาของกระจกตามากขึ้น สามารถแก้ไขสายตาของผู้ป่วยที่มีกระจกตาบางและลดความเจ็บปวด ฟื้นตัวได้เร็ว โดยยังคงความปลอดภัยและช่วยลดภาวะตาแห้งด้วย

SBK (Sub-Bowmans Keratomileusis) 
เป็นเทคโนโลยีใหม่ โดยใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตาชนิดพิเศษทำให้ได้ฝากระจกตาที่บางลงและมีความหนาอย่างสม่ำเสมอ วิธีนี้ทำให้เหลือพื้นที่กระจกตามากขึ้นทำให้สามารถรักษาสายตาสั้นระดับมากได้แล้วช่วยลดภาวะตาแห้งหลังการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี

เทคโนโลยีเลเซอร์ Excimer Quest เป็นเทคโนโลยีการรักษาภาวะสายตาสั้น-ยาว ด้วยเครื่อง Nidek Laser Excimer รุ่น Navex Quest ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความทันสมัยมีประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และความปลอดภัยสูง ผ่านการรับรองมาตรฐาน US FDA ประกอบด้วย

  • High Speed Eye Tracking System มีความปลอดภัยสูงในการยิงซ้ำที่เดิมของแสงเลเซอร์ ด้วยระบบติดตามลูกตาความเร็ว 1000 Hz
  • Cyclotorsion Error Correction คือ ภาวะที่กระจกตาเราหมุนจากการเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น การนั่ง การนอน ซึ่งเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นกับตาเรา ซึ่งภาวะนี้เป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่มีความสำคัญในการรักษาสายตาของคนไข้โดยเฉพาะคนไข้ที่มีสายตาเอียง โดยปกติการตรวจสายตาและบันทึกข้อมูลต่างๆ ของดวงตาคนไข้จะเป็นการตรวจในท่านั่ง แต่เมื่อฉายเลเซอร์ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในท่านอน ซึ่งจะทำให้กระจกตาคนไข้เกิดภาวะกระจกตาหมุน ดังนั้นถ้ามีการใช้ข้อมูลต่างๆ ของดวงตาคนไข้ที่เป็นการนั่งตรวจมาทำการรักษาจะทำให้ความแม่นยำประสิทธิภาพในการรักษาลดน้อยลง
  • Visual Axis Based Ablation การรักษาสายตาโดยใช้จุดศูนย์กลางการมองเห็นเป็นแกนในการรักษา โดยตัวเครื่องจะจดจำศูนย์กลางของการมองเห็น และตั้งเป็นแกนในการรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีความแตกต่างกัน ระหว่างจุดศูนย์กลางการมองเห็นและจุดศูนย์กลางของรูม่านตา การใช้ระบบ Visual Axis Based Ablation จะทำให้มีความถูกต้องและแม่นยำสูงในการฉายเลเซอร์
  • Combine Laser Beam Technology เทคโนโลยีของลำแสงเลเซอร์ที่ใช้ในการรักษาสายตา มีทั้งแบบ Slit scanning เพื่อทำให้ผิวของการรักษามีความเรียบเนียนและMultiple point เพื่อใช้ในการรักษาบริเวณที่ต้องการความละเอียดเฉพาะได้เป็นอย่างดี และลดระยะเวลาในการฉายเลเซอร์
  • รวมทั้งมีโปรแกรมใหม่ ในการรักษาสายตาผิดปกติอื่นๆ ได้แก่ Wavefront Technology (โปรแกรม OPDCAT), ภาวะสายตายาวตามวัย หรือ Presbyopia (โปรแกรม PAC),ภาวะสายตาผิดปกติที่ซับซ้อน (โปรแกรม CATz)

Wavefront Technology เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ ในการวิเคราะห์หาค่าความ แปรปรวนของคลื่น แสงที่ผ่าน เข้าไปในตา ซึ่งจะมีค่าเฉพาะในแต่ละคน ใน ปัจจุบันนี้สามารถนำเทคโนโลยี Wavefront มาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขความผิดปกติของค่าสายตา เพื่อให้มีความ ละเอียดแม่นยำและมีประสิทธิภาพ สูงสุด

คุณหมอให้ความรู้ :

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top