บริการทางการแพทย์

ศูนย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และผู้มีบุตรยาก

12 Floor, open everyday
7:00-19:00 Tel. 02-129-5555

ศูนย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลปิยะเวท ได้พัฒนา ศูนย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ขึ้น เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์แบบในชีวิตครอบครัวแก่ผู้ที่มีบุตรยาก สุภาพสตรีอายุมากกว่า 35 ปี กลุ่มที่แท้งซ้ำซ้อน ตลอดจนกลุ่มที่มีโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและมากประสบการณ์ พร้อมมอบบริการที่ครอบคลุม ตั้งแต่การให้คำปรึกษา สืบหาสาเหตุ ตรวจค้นเพิ่มเติม และรักษาด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) อิ๊กซี (ICSI) ฉีดเชื้อผสมเทียม (IUI) รวมถึงเทคนิค PGD และ PGS ซึ่งใช้ตรวจคัดกรองโครโมโซมที่ผิดปกติ จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลปิยะเวท
โดดเด่นเป็นพิเศษด้านการทำเด็กหลอดแก้ว โดยมีอัตราความสำเร็จสูงเทียบเท่าสหรัฐอเมริกาและยุโรป และยังคงพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง Next Generation Sequencing : NGS มาใช้ตรวจโครโมโซมได้ครบทั้ง 24 คู่ ทำให้ตรวจวิเคราะห์หาความผิดปกติของโครโมโซมที่ก่อให้เกิดโรคทางพันธุกรรมได้แม่นยำมากขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ และสร้างความมั่นใจแก่คู่สมรสว่าจะให้กำเนิดลูกน้อยที่ปลอดโรคทางพันธุกรรมด้วย

หัตถการ / เทคนิคการรักษา

  • IVF เทคโนโลยีแห่งทางออก แก้ปัญหาการมีบุตรยาก 7 ขั้นตอนของการทำ IVF
  • PGD การตรวจความผิดปกติในระดับยีน เพื่อหลีกเลี่ยงโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • PGS การตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซม ก่อนฝังกลับไปในโพรงมดลูก
  • IUI ฉีดเชื้อผสมเทียมในโพรงมดลูก
  • ICSI อิ๊กซี่ เทคโนโลยีขั้นสูง แก้ปัญหาการมีบุตรยากเนื่องจากฝ่ายชายมีน้ำเชื้ออสุจิน้อยคุณภาพไม่แข็งแรง
  • IVF เทคโนโลยีแห่งทางออก แก้ปัญหาการมีบุตรยาก

การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF : In Vitro Fertilisation) เป็นการปฏิสนธินอกร่างกาย โดยใช้เทคนิคการนำไข่และอสุจิมาผสมให้เกิดการปฏิสนธิ จนกลายเป็นตัวอ่อนในห้องทดลอง หลังจากนั้นจึงนำตัวอ่อนที่เกิดขึ้นใส่กลับเข้าโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาภาวะผู้มีบุตรยากที่ไม่รุนแรง ผลสำเร็จโอกาสตั้งครรภ์ 15-35% โดยมีขั้นตอนหลัก ได้แก่ การกระตุ้นไข่ ติดตามการเจริญเติบโตของไข่ และเก็บไข่ หลังจากนั้นนำไข่มาผสมกับเชื้ออสุจิในห้องทดลอง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ โดยต้องควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซต่างๆ ในบรรยากาศให้เหมาะสม และใช้น้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนที่เตรียมไว้เป็นพิเศษ ประมาณ 16-18 ชั่วโมงหลังการปฏิสนธิ จะเริ่มเกิดการแบ่งตัวเป็นตัวอ่อน  หลังจากนั้นอีก 24 ชั่วโมง จะมีการแบ่งตัวเป็นตัวอ่อนระยะ 2-4 เซลล์ และเป็นตัวอ่อนระยะ 8-12 เซลล์ ในอีก 24 ชั่วโมงต่อมา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการเลี้ยงตัวอ่อนต่ออีกประมาณ 3-5 วัน แล้วจึงย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้มีการฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไป โดยปกติตัวอ่อนจะถูกใส่กลับจำนวน 2-3 ตัว ถ้ามีเหลืออยู่อีกและเป็นตัวอ่อนที่แข็งแรง ก็จะแช่แข็งเก็บไว้ให้ ซึ่งสามารถนำมาใส่กลับได้อีกในรอบการรักษาครั้งต่อไป

ข้อบ่งชี้ในการทำ IVF (การปฏิสนธินอกร่างกาย)

  • ฝ่ายหญิงมีความผิดปกติของท่อนำไข่ตีบหรือตันทั้งสองข้าง
  • ฝ่ายหญิงมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานมากและรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล
  • ฝ่ายหญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และรักษาภาวะนี้แล้วด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล
  • เชื้ออสุจิฝ่ายชายคุณภาพไม่ดีซึ่งรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
  • ภาวะการมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ

ระยะเวลาในการทำเด็กหลอดแก้ว ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 4-6 สัปดาห์จึงจะเสร็จสมบูรณ์ โดยที่หลังจากมีการถ่ายฝากตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์

อัตราการประสบความสำเร็จ ในแต่ละรอบเดือนที่มีการเก็บไข่ และย้ายตัวอ่อน จะมีอัตราการตั้งครรภ์ประมาณ 30-40% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของฝ่ายหญิงด้วย

การตั้งครรภ์จากการปฏิสนธินอกร่างกายจะปกติหรือไม่ ผู้ที่ตั้งครรภ์จากการรักษาวิธีนี้ จะมีโอกาสแท้งบุตรประมาณร้อยละ 15-20 จากข้อมูลจนถึงปัจจุบัน ทารกที่เกิดมาจะมีโอกาสเกิดความพิการไม่แตกต่างจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ และพัฒนาการของเด็กก็เป็นปกติ

วิธีการทำ IVF ของศูนย์เวชศาสตร์เจริญพันธุ์ โรงพยาบาลปิยะเวท สามารถแบ่งเป็นขั้นตอนหลักๆ ได้ 7 ขั้น ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : การให้คำปรึกษาและการตรวจสอบภาวะมีบุตรยาก เริ่มต้นขั้นตอนแรกด้วยการพบแพทย์ เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกาย ค้นหาสาเหตุและจะทำการทดสอบดังต่อไปนี้
ผู้หญิง

1. การตรวจเลือดวิเคราะห์ผลทางห้องปฎิบัติการ (Lab)

  • ตรวจหาเชื้อและหาภูมิไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg, Anti-HBs)
  • ตรวจหาเชื้อเอดส์ (Anti-HIV)
  • ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส (VDRL)
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (Rubella IgG)
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
  • ตรวจหาหมู่เลือดและความเข้ากันได้ของเลือด (ABO-RH)
  • ตรวจหาความเสี่ยงโรคธาลัสซีเมีย (Hb Typing)

  1. ข้อมูลฮอร์โมน (FSH, E2, Progesterone)
  2. อัลตร้าซาวด์ช่องคลอด (Transvaginal)

ผู้ชาย
1. การตรวจเลือดวิเคราะห์ผลทางห้องปฎิบัติการ (Lab)

  • ตรวจหาเชื้อและหาภูมิไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg, Anti-HBs)
  • ตรวจหาเชื้อเอดส์ (Anti-HIV)
  • ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส (VDRL)
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
  • ตรวจหาหมู่เลือดและความเข้ากันได้ของเลือด (ABO-RH)
  • ตรวจหาความเสี่ยงโรคธาลัสซีเมีย (Hb Typing)

  1. การวิเคราะห์น้ำอสุจิจากคอมพิวเตอร์ (ผลตรวจใช้เวลา1 วัน)

ขั้นตอนที่ 2 : การกระตุ้นรังไข่ เริ่มในวันที่ 2 หรือ 3 ของการมีประจำเดือน โดยทำการฉีดยากระตุ้นไข่ทุกวัน ประมาณ 9-12 วัน ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถฉีดยาได้ที่โรงพยาบาลหรือนำยากลับบ้านเพื่อฉีดด้วยตนเอง ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับบริการ หลังจากฉีดยา 5-6 วัน จึงมาพบแพทย์เพื่อตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) และตรวจสอบขนาดของไข่ หลังจากนั้นอีก 5-6 วัน แพทย์จะนัดผู้ป่วยซ้ำเพื่อดูขนาดของไข่ ก่อนทำการฉีดกระตุ้นให้ไข่ตก

ขั้นตอนที่ 3 : การเก็บไข่ ก่อนเก็บไข่ ผู้ป่วยต้องฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกประมาณ 36-40 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้ไข่สุกเต็มที่ การเก็บไข่สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ใช้หัวอัลตร้าซาวด์สอดเข้าทางช่องคลอด เพื่อเป็นแนวทางให้เข็มเข้าไปในรังไข่ ขั้นตอนนี้จะรักษาโดยให้ยาระงับประสาททางหลอดเลือดดำ โดยไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
และในวันเดียวกัน สามีต้องให้ความร่วมมือมาเก็บอสุจิ เพื่อจะเตรียมสำหรับผสมกับไข่ โดยแจ้งล่วงหน้า 2-3 วัน
หมายเหตุ: การแช่แข็งอสุจิสามารถเก็บวันใดวันหนึ่งก่อนที่จะเจาะไข่
ขั้นตอนที่ 4 : Blastocyst Culture เป็นการปฏิสนธิของไข่และอสุจิภายนอกร่างกายในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด (ในห้องทดลอง) แล้วเลี้ยงตัวอ่อนไปอีกประมาณ 5-6 วันหลังจากปฏิสนธิ กระทั่งตัวอ่อนพัฒนาขึ้นไปสู่ระยะ Blastocyst

ทางโรงพยาบาลปิยะเวทมีห้องทดลองที่พรั่งพร้อม ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และทันสมัย รวมถึงบุคลากรที่ชำนาญการในเรื่องนี้ จึงสามารถเลี้ยงตัวอ่อนได้อย่างปลอดภัยจนถึงระยะ Blastocyst และขั้นตอนนี้ยังเป็นการคัดตัวอ่อนไปในตัว เพื่อหาตัวอ่อนที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะต้องใช้เทคนิคการตรวจโครโมโซมก่อนการฝังตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อป้องกันความผิดปกติของโครโมโซม

เทคนิค PGD/PGS เป็นการนำเซลล์จากตัวอ่อนมาตรวจความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซม
การตรวจความผิดปกติของโครโมโซม เพื่อคัดตัวอ่อนระยะก่อนการฝังตัว (PGD & PGS) สามารถตรวจความผิดปกติของโครโมโซมได้ทั้ง 24 ตัว ทำให้เพิ่มอัตราความสำเร็จจากการทำเด็กหลอดแก้ว และลดอัตราการแท้งบุตรที่จะเกิดขึ้น ช่วงการเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ ก่อนที่จะย้ายสู่โพรงมดลูกให้ฝังตัวเกิดเป็นการตั้งครรภ์นั้น เราสามารถดึงเอาเซลล์เพียงเล็กน้อยจากตัวอ่อนมาตรวจหาความผิดปกติของพันธุกรรมและโครโมโซมได้ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูตัวอ่อนและใช้เข็มแก้วขนาดเล็กดูดเอาเซลล์ตัวอย่างออกมาตรวจ จึงไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อโอกาสการอยู่รอดของตัวอ่อนหลังจากย้ายสู่โพรงมดลูกแล้ว 

การตรวจความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน
( Pre-Implantation Diagnosis; PGD) คือการวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เฉพาะเจาะจงกับโรคบางอย่าง ก่อนที่จะนำตัวอ่อนย้ายสู่โพรงมดลูก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของทารกในกลุ่มที่พ่อแม่มีโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคเกี่ยวกับเม็ดเลือดแดง โรคซีสติกไฟโบรซีส รวมไปถึงโรคอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนใหญ่วิธีนี้จะแนะนำให้คู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งคู่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นพาหะหรือเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หรือเคยมีบุตรที่เป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งหมายความว่าด้วยวิธีการนี้เราสามารถจะคัดเลือกเฉพาะตัวอ่อนที่แข็งแรงและไม่เป็นโรคทางพันธุกรรมเท่านั้นในการย้ายสู่โพรงมดลูก 

การตรวจคัดกรองตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (Pre-Implantation Screening; PGS) เป็นขั้นตอนคล้ายกับ PGD แต่จะทำการทดสอบในตัวอ่อนที่พ่อแม่ปกติไม่มีโรคทางพันธุกรรม เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของโครโมโซมที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป (เช่น โรคดาวน์ซินโดรม) ซึ่งจะแนะนำวิธีการนี้สำหรับคู่สมรสที่จะรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) และมีความเสี่ยงจะเกิดความผิดปกติ เช่น เคยมีบุตรที่มีความผิดปกติมาก่อน หรือเมื่อฝ่ายหญิงอายุเกิน 40 ปี

ขั้นตอนที่ 5 : การเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกสำหรับการย้ายตัวอ่อน ผู้ป่วยต้องใช้ยาฮอร์โมนในรูปแบบทานและเหน็บช่องคลอด เพื่อเตรียมผนังมดลูกให้มีความสมบูรณ์เหมาะสม พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน

ขั้นตอนที่ 6 : การย้ายตัวอ่อน ตัวอ่อนจะถูกย้ายผ่านทางท่อพลาสติกเล็กๆ บางๆ ผ่านทางช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก ภายใต้การนำของอัลตร้าซาวด์ และตัวอ่อนจะถูกวางไว้ในที่ที่ดีที่สุดในโพรงมดลูก ซึ่งเป็นขั้นตอนการรักษาที่ผู้ป่วยไม่มีความเจ็บปวด เมื่อใส่ตัวอ่อนเรียบร้อยแล้วผู้ป่วยจะนอนพักประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน

ขั้นตอนที่ 7 : การบริหารจัดการภายหลังการใส่ตัวอ่อน ผู้ป่วยจะได้รับยาฮอร์โมนเพื่อพยุงการฝังตัวของตัวอ่อน หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 10 วัน แพทย์จะทำการทดสอบการตั้งครรภ์ โดยตรวจหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (Beta-hCG) ที่เพิ่มขึ้น และตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อเป็นการยืนยันการตั้งครรภ์อีกครั้ง หลังค่าฮอร์โมนการตั้งครรภ์ขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์

Preimplantation Genetic Diagnosis (PGD) เป็นการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนการฝังตัว เหมาะสำหรับคู่สมรสที่มีความกังวลว่าตนจะเป็นพาหะหรือเป็นโรคทางพันธุกรรม และถ่ายทอดความผิดปกตินี้ให้แก่บุตร เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคระบบทางเดินหายใจ โรคกล้ามเนื้อลีบ เป็นต้น

โดยทั่วไปคู่สมรสที่มีปัญหาเรื่องภาวะมีบุตรยากหรือแท้งซ้ำซ้อนสามารถพบความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ถึง 10% และ 30% ตามลำดับ โรคทางพันธุกรรมก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กและคู่สมรส เพราะฉะนั้นการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและดีที่สุด ปัจจุบัน โรงพยาบาลปิยะเวทสามารถคัดกรองโรคทางพันธุกรรมได้ถึง 600 โรค

ผู้ที่เหมาะสำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วย PGD

  • ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี (Advanced Maternal Age ; AMA) เนื่องจากมีอัตราความเสี่ยงของการให้กำเนิดบุตรที่มีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome)
  • ผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางพันธุกรรมในครอบครัว
  • ผู้ที่มีประวัติการรักษาภาวะมีบุตรยากมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
  • ผู้ที่มีประวัติแท้งบ่อยครั้ง
  • คู่สมรสที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ติดมากับโครโมโซมเพศแอบแฝงอยู่เช่นโรคเลือดออกไม่หยุด

 Preimplantation Genetic Screening (PGS) เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซม ก่อนฝังตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก โดยที่พ่อและแม่เจ้าของตัวอ่อนไม่มีโรค หรือไม่เป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรมใดๆ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว โดยมีจุดประสงค์หลักคือคัดกรองความผิดปกติที่รุนแรงของโครโมโซม เช่น มีโครโมโซมเกินกว่าปกติหรือขาดไป หรือทั้งเกินทั้งขาด ซึ่งมีผลกระทบต่อการฝังตัวของตัวอ่อน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสที่จะตั้งครรภ์ ลดอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งได้ และช่วยให้เด็กที่จะคลอดออกมาแข็งแรงสมบูรณ์

ผู้ที่เหมาะสำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วย PGS

  • คู่แต่งงานที่มีบุตรยาก
  • ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี และต้องการมีบุตร
  • คู่แต่งงานที่มีประวัติการแท้งบุตรหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • คู่แต่งงานที่เคยทำเด็กหลอดแก้วย้ายตัวอ่อน 2 ครั้ง ไม่ประสบผลสำเร็จ
  • คู่แต่งงานที่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์บุตรหรือเนื้อเยื่อจากการแท้งที่มีโครโมโซมผิดปกติ

IUI ฉีดเชื้อผสมเทียมในโพรงมดลูก
Intrauterine Insemination (IUI) คือการฉีดเชื้อผสมเทียมในโพรงมดลูกโดยตรง โดยที่ตัวอสุจิไม่ต้องว่ายผ่านปากมดลูก ทำให้มีตัวอสุจิที่เคลื่อนไหวจำนวนมากเข้าไปในโพรงมดลูก และพร้อมที่จะผสมกับไข่ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อน ปลอดภัย และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก

วิธีนี้จะคัดเอาเฉพาะตัวอสุจิที่ยังมีชีวิตและเคลื่อนที่ได้ดี แล้วฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง โดยใช้ท่อพลาสติกเล็กๆ สอดผ่านปากมดลูกแล้วฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในช่วงที่มีหรือใกล้กับเวลาไข่ตก

ผู้ที่เหมาะกับการทำ IUI

  • คู่สมรสที่หาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากไม่พบ
  • ฝ่ายชายที่มีเชื้ออสุจิต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิในช่องคลอด
  • ฝ่ายหญิงที่มีปัญหาเรื่องภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) หรือมีปัญหาเรื่องการตกไข่

อัตราการประสบความสำเร็จ โดยทั่วไปแล้วอัตราความสำเร็จของการกระตุ้นให้มีการตกไข่และการทำ IUI อยู่ระหว่าง 10 – 20% ต่อรอบการรักษา ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อายุของฝ่ายหญิง จำนวนไข่ที่สมบูรณ์พอที่จะทำให้เกิดการปฏิสนธิได้ ความเข้มข้นของจำนวนอสุจิที่ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก และความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกในวันที่ฉีดอสุจิ แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์จะทำการควบคุมปัจจัยดังกล่าวให้เหมาะสมที่สุด เพื่อจะได้มีโอกาสในการตั้งครรภ์สูงสุด

ICSI อิ๊กซี่ เทคโนโลยีขั้นสูง แก้ปัญหามีบุตรยากเนื่องจากฝ่ายชายมีน้ำเชื้ออสุจิน้อย ไม่แข็งแรง Intracytoplasmic Sperm Injection (ICSI) เป็นการใช้เทคนิคในห้องปฏิบัติการเลือกตัวสเปิร์มที่แข็งแรงที่สุดเพียง 1 ตัว จากนั้นใช้เข็มเจาะและฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง เพื่อช่วยให้เกิดการปฏิสนธิ วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาการปฏิสนธิแบบผิดปกติอันเนื่องมาจากไข่และสเปิร์ม เช่น การเกิดการผสมด้วยสเปิร์มหลายตัว สเปิร์มไม่สามารถเจาะผ่านเปลือกไข่ เพื่อเข้ามาปฏิสนธิได้ เป็นต้น รวมถึงช่วยลดการเกิดทารกที่มีอาการดาวน์ซินโดรม หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย โรคกล้ามเนื้อลีบ เป็นต้น

ผู้ที่เหมาะกับการทำ ICSI

  • ฝ่ายหญิงที่เปลือกไข่แข็งหรือหนา
  • ฝ่ายชายที่มีน้ำเชื้ออสุจิน้อยกว่า 2 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรอสุจิไม่สมบูรณ์มีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิแล้วย้อนกลับเข้ากระเพาะปัสสาวะ
  • คู่สมรสที่เคยทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF แล้วไม่ประสบความสำเร็จ

อัตราการประสบความสำเร็จ การทำ ICSI มีโอกาสตั้งครรภ์สูงประมาณ 40% ของรอบการรักษา ขึ้นอยู่กับคุณภาพความสมบูรณ์ของไข่และอสุจิ

เทคโนโลยีทางการรักษา

  • Laser Mediated ICSI
  • NGS เทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม ลดความเสี่ยงการเกิดโรคและพาหะ

 Laser Mediated ICSI โรงพยาบาลปิยะเวทได้นำเทคโนโลยี Laser Mediated ICSI มาใช้ร่วมกับการทำ ICSI โดยจะยิงเลเซอร์เพื่อเปิดเปลือกไข่ก่อน แล้วค่อยแทงเข็มปล่อยสเปิร์มเข้าไป เหมาะสำหรับฝ่ายหญิงที่มีเปลือกไข่แข็งและหนา ซึ่งต้องใช้บุคลากรที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

NGS เทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม ลดความเสี่ยงการเกิดโรคและพาหะ Next Generation Sequencing (NGS) เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจรหัสพันธุกรรม เพื่อวิเคราะห์และค้นหาพาหะของโรคทางพันธุกรรรม ที่มีโอกาสทำให้ทารกที่เกิดมาพิการและทุพพลภาพได้ ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยพาหะของโรคได้มากถึง 600 โรค ครอบคลุมโรคพันธุกรรมที่พบบ่อย เช่น โรคธาลัสซิเมีย โรคกล้ามเนื้อลีบดูแชนและเบคเกอร์ โรคเซลล์ประสาทไขสันหลังเสื่อม โรคเลือดไหลไม่หยุดฮีโมฟิเลีย รวมถึงกลุ่มอาการโครโมโซมเอ็กซ์เปราะ โรคหูหนวกแต่กำเนิด เป็นต้น ทั้งนี้ คู่สมรสที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก หรือเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรม จะสามารถคัดเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์ ปราศจากโรคทางพันธุกรรม และตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอดได้

หลักการตรวจ NGS ใช้การเปรียบเทียบปริมาณ DNA ของแต่ละตำแหน่ง เพื่อหาลำดับเบสแบบขนาน ซึ่งทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ได้ข้อมูลลำดับเบสจำนวนมหาศาล เพื่อนำมาวิเคราะห์หาความผิดปกติของโครโมโซมและยีนที่ก่อให้เกิดโรคได้

จุดเด่นของการตรวจโครโมโซมด้วยเทคโนโลยี NGS

  • สามารถตรวจหาความผิดปกติได้ครบทั้ง 24 โครโมโซม ด้วยการตรวจเพียงครั้งเดียว
  • มีความแม่นยำสูงถึง 98-99%
  • เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว
  • สามารถตรวจหาความผิดปกติชนิดยีนเดี่ยวได้

เทคโนโลยี NGS เหมาะกับใครบ้าง

  • คู่สมรสที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และต้องการมีบุตร
  • คู่สมรสที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก
  • คู่สมรสที่เป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรม และต้องการมีบุตรที่ปราศจากโรค
  • คู่สมรสที่กำลังรับการรักษาด้วยวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว
  • คู่สมรสที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) มากกว่า 3 ครั้ง
  • ผู้ที่มีประวัติแท้งซ้ำซ้อน หรือแท้งโดยไม่ทราบสาเหตุ

วิธีการส่งตรวจ NGS
1. จำนวนเซลล์ตัวอ่อน โรงพยาบาลปิยะเวทใช้เซลล์ตัวอ่อนอายุ 5 วัน จำนวน 5-10 เซลล์
2. การจัดเก็บเซลล์ตัวอ่อน บรรจุเซลล์ตัวอ่อนลงใน PCR tube และเก็บที่อุณหภูมิ 2-6 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสม
3. การขนส่งเซลล์ตัวอ่อน ขนส่งเซลล์ตัวอ่อนดังกล่าวให้กับห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีเจ้าหน้าที่ให้บริการที่มีประสบการณ์ผ่าน
4. การฝึกอบรมตามมาตรฐาน ISO 15189 : 2012 เมื่อได้รับผลตรวจแล้ว ทางห้องปฏิบัติการจะจัดส่งผลให้ทางโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
5. ระยะเวลาในการรายงานผล ภายใน 5-7 วัน นับจากที่ห้องปฏิบัติการได้รับเซลล์ตัวอ่อน

คุณหมอให้ความรู้ :

Scroll to Top